top of page

ข้อแนะนำการเลือกใช้ Backplate and Wing

ข้อแนะนำการเลือกใช้ Backplate and Wing

Equipment

อุปกรณ์ดำน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง BCD มีการพัฒนา และออกสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Backplate and Wings (BP&Ws หรือ BPW) นั้นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เราจึงอยากมีการแนะนำอุปกรณ์ดำน้ำประเภทนี้อย่างเจาะลึก และเข้าใจได้ง่าย โดยเราจะพูดถึงคุณสมบัติต่างๆ ประโยชน์ และข้อควรพิจารณาที่เกี่ยวข้องกันกับ BPW สำหรับการดำน้ำลึก


🙋‍♂️ ประสบการณ์ส่วนตัว

เราได้มีการใช้ BPW มาในช่วงปี 2017 ซึ่งในตอนนั้น BPW กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ต่างกับช่วงปี 1990 - 2000s ที่มียี่ห้อไม่กี่ยี่ห้อ เช่น Dive Rite, Halcyon, OMS หรือ Frog เป็นต้น แล้วก็มียี่ห้อใหม่ๆกำเนิดขึ้นมากมายเช่น Tecline, Oxycheq, xDeep, Finnsub, SoprasTek, Dolphin Tech, Dive System, Surface Tension, Helios, Dive One ฯลฯ รวมไปถึงผู้ผลิตรายใหญ่ๆเช่น Scubapro, Aqualung (APEKS) หรือ Oceanic (Hollis) ก็เข้ามาผลิต BPW เพื่อแข่งขันในตลาดนี้มากขึ้นอีกด้วย โดยนักดำน้ำที่สนใจยี่ห้อไหนสามารถติดต่อสอบถามเข้ามาที่ Blue Culture Diving ได้เลย


แม้ว่าช่วงก่อนเริ่มใช้ BPW นั้นเราได้มีการขัดขืนไม่กล้าใช้ แต่ once join the wing side แล้วก็พบได้ว่ามีข้อแตกต่างที่น่าสนใจมากมาย โดยที่เราก็ยังได้ใช้ Jacket BC เป็นปกติในการสอนดำน้ำทั่วไปได้ จากการที่ลองสอนโดยให้นักเรียนใช้ BPW ในการเรียน หรือการให้เช่า พบกว่านักดำน้ำเลือก BPW มากกว่าเลือก Jacket ด้วยเหตุผลเรื่องความสบายในน้ำ


เราได้ลองใช้ BPW มากมายหลายยี่ห้อ (Halcyon, SoprasTEK, TECLINE, Hollis, Dive Rite, ฯลฯ) ทั้งสำหรับถังใบเดียว และสำหรับ Technical Diving และตัดสินใจเป็นตัวแทนจำหน่ายของ TECLINE ตั้งแต่ปี 2017 ปีนั้นเลย เนื่องด้วยมั่นใจในคุณภาพสินค้าตั้งแต่แบรนด์เพิ่มเริ่มตั้งต้น ซึ่งชุดแรกที่เราใช้ ก็ยังถูกใช้อยู่เพื่อพิสูจน์ความทนทานในระยะยาวต่อไป


🪽 กำเนิด Backplate and Wing



ในปี 1979 นักสำรวจถ้ำชื่อว่า Greg Flanagan เป็นผู้คิดค้นระบบ Backplate นี้ขึ้นมาหลังจากที่พบความยากลำบากในการเรียนดำน้ำถ้ำที่รัฐฟลอริด้า และถึงแม้ Jacket BC ในยุคน้ัน (หรือยุคนี้ก็ตาม) จะสามารถใช้งานร่วมกับถังคู่ (Double Tank) ได้ แต่ก็ยังขาดจุดยึดต่างๆสำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็นในการสำรวจถ้ำใต้น้ำ และ Jacket BC ไม่ได้รัดตัวกระชับมากพอที่จะทำให้ double tank ที่มีน้ำหนักมากติดอยู่ที่หลัง และถังมักจะขยับไปมาอยู่เสมอ ทำการทรงตัวของนักดำน้ำทำได้ไม่ดีนัก Greg จึงได้ปรึกษากับเพื่อนอีกสองคนคือ Dr.John Zumrick และะ William "Bill" Hogarth Main โดยในช่วงปี 1973 นั้นได้มีสิทธิบัตรของ Scubapro BCP (Buoyancy Control Pack) และ AT-PAC Watergill ที่เป็นลักษณะถุงลมอยู่ที่ด้านหลังอีกด้วย


แต่ทั้งสองการประดิษฐ์ก็ยังมีจุดที่ Greg ไม่สามารถนำไปใช้ได้ เนื่องจากขนาด หรือตำแหน่งต่างๆ จึงตัดสินใจสร้างแผ่นโลหะขึ้นมาเพื่อประกบเข้ากับถังคู่ โดยให้ถุงลม (วิง) อยู่ตรงกลางระหว่างแผ่นเหล็กกับถังของเขา จึงถือกำเนิดชุด Backplate and Wing ขึ้นมา โดย Bill Main เอาเป็นผู้เสนอไอเดียให้ติดตั้ง D-ring บนสายบ่าทั้งสองข้างเพื่อเหน็บเอาไฟฉายสำรองไปอีกด้วย ซึ่งในปี 1984 ทาง Dive Rite ก็ได้จัดจำหน่าย Backplate ที่มีดีไซน์และขนาดเป็นเหมือนทุกวันนี้ และมีการพัฒนาเพิ่มเติมจนเป็นสินค้าที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ โดยยังคงไว้ซึ่งระยะรูเจาะมาตรฐาน 11 นิ้วที่เห็นกันใน Backplate เกือบทั่วโลก


🧩 ส่วนประกอบพื้นฐานของ Backplate and Wing



1. Backplate (BP)

เป็นศูนย์รวมอุปกรณ์ทุกอย่างเข้าด้วยกัน โดยส่วนใหญ่จะผลิตมาจากโลหะ เช่น อลูมิเนียม หรือ สแตนเลสสตีล ที่มีความหนาประมาณ 3-6mm ซึ่งจะมีน้ำหนักประมาณ 850g - 4400g แล้วแต่ความหนาและโลหะที่ใช้ และมีหน้าที่รับน้ำหนักจากถังดำน้ำ และเป็นจุดติดตั้ง Harness ของชุดดำน้ำอีกด้วย


ในปัจจุบัน Backplate มีผลิตจากวัสดุที่เบาขึ้น เช่น Carbon Fiber หรือ Titanium แล้ว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงขึ้น หรือ Soft Plate หรือแผ่นผ้าแข็งที่ทำหน้าที่เดียวกันกับ hardplate แต่ Soft Plate จะมีการบิดตัวที่มาก แตกต่างจาก Hardplate (Alu, Stainless Steel) ที่คงรูปได้ดีแม้ในน้ำหนักมาก Soft Plate จึงมักนิยมกับการใช้ถังดำน้ำที่ผลิตมาจากอลูมิเนียม มากกว่าเหล็ก และถ้าใช้รับน้ำหนักมาก เช่น ถังดำน้ำหลายใบ จะมีการใช้แกนโลหะเข้ามาช่วยเสริมแรงอีกด้วย


2. Harness


สายรัดที่ร้อยเรียงทุกอย่างเข้ากับตัวนักดำน้ำ ซึ่งทำมาจากสาย Polypropylene คุณภาพสูง หน้ากว้าง 50mm แต่คุณภาพ ความแข็งของสาย harness และความหนาของมันนั้นจะแตกต่างไปตามสเปคของยี่ห้อนั้นๆ และต้องมีสายรัดเป้าที่มี D-ring สำหรับการใช้ scooter อีกด้วย ซึ่งลักษณะของ Harness นั้นจะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ


  • DIR Harness หรือ "Hogarthian" Harness จะใช้สาย Harness เส้นเดียวร้อยเข้ากับ BP แล้วพร้อมกับติดตั้งจุด D-ring ต่างๆ เพื่อใช้ในการเกี่ยวเก็บของ ซึ่ง DIR harness นั้นจะมีความง่ายในการใช้งาน ไม่ต้องปรับสายต่างๆ ระหว่างใช้งาน และไม่มีจุดใดที่จะเป็น failure point ของ DIR harness จึงมีทั้งความทนทาน และราคาที่ถูก ทั้งในการซื้อใหม่ และการซื้อทดแทน และเป็นที่นิยมของนักดำน้ำแบบ Technical Diving ที่จะใช้ระบบที่ง่ายและเสียหายยากนี้ แต่ข้อเสียคือต้องมีการฟิตติ้งก่อนใช้งาน การฟิตติ้งอย่างถูกวิธี เพื่อให้ผู้สวมใส่เกิดความสบายทั้งบนบกและในน้ำ


  • Adjustable Harness มักจะได้ยินในชื่อ Comfort Harness หรือ Deluxe Harness แต่คุณลักษณะที่เหมือนกันคือจะมีจุดที่ให้ปรับสาย Harness ได้โดยไม่ต้องฟิตติ้งอย่างละเอียด หรือมีจุดที่เป็น Quick Release Buckle เพื่อให้คล้ายคลึงกันกับการใช้งานของ Jacket BC ที่นักดำน้ำทุกคนต่างเคยผ่านมือมาทั้งนั้น ซึ่งการใช้งานจะง่าย แต่ต้องแลกมาด้วยราคาชุด harness ที่แพง และการประกอบครั้งแรกที่ดูจะยุ่งยากกว่า DIR Harness และจุดที่ปรับ หรือปลดได้ จะกลายเป็น failure point ของชุดดำน้ำชุดนั้น เช่น ชุดคลายตัวเองใต้น้ำเมื่อเจอกระแสน้ำแรง, หรือพลาสติกแตกทำให้ไม่สามารถยึดสาย harness ไว้ได้เป็นต้น แต่เพื่อความสะดวกในการใช้งาน จึงมีนักดำน้ำหลายคนเลือกที่จะใช้ harness แบบปรับได้

  • Crotch Strap สายรัดเป้า คือหัวใจอีกอันหนึ่ง ที่ทำให้ BPW นั้นมีความนิ่งกระชับเข้ากับตัวนักดำน้ำได้ดี และรักษาให้ตัว wing ไม่กดหน้านักดำน้ำที่ผิวน้ำมากนัก


3. Wing

วิงหรือว่าถุงลมนั้น จะมีหน้าที่ควบคุมการลอยตัวให้กับนักดำน้ำ ซึ่งมีดีไซน์และขนาดที่หลากหลาย แต่สามารถบอกคุณลักษณะได้คร่าวจากดีไซน์ เช่น


  • วิงที่มีปีกกว้าง เวลาอยู่ในน้ำจะนิ่งกว่าวิงที่ปีกแคบกว่า แต่วิ่งที่ปีกแคบว่า จะเติมลม ปล่อยลมได้เร็ว ทำให้มี responsiveness ที่ดี

  • วิงที่ดีไซน์ให้ลมไปอยู่ที่่ด้านล่างของวิง มากกว่าด้านบน ก็จะเป็นวิงที่ดันตัวนักดำน้ำได้ดีที่ผิวน้ำ และรักษา trim ได้ง่ายกว่าวิงที่ถุงลมไปอยู่กลางหลัง หรือด้านหลังศีรษะมากกว่า

  • วิงที่มีลักษณะเป็นโดนัท หรือถุงลมเชื่อมต่อกันทั้งด้านบน และด้านล่างจะทำให้การควบคุมบาลานซ์ง่ายกว่าวิงที่เป็นลักษณะตัว U หรือเกือกม้า ที่ลมจะเคลื่อนที่จากด้านหนึ่ง ไปอีกด้านหนึ่งที่จุดเดียว เนื่องจากอากาศในวิงจะขัยบซ้ายขวาได้ง่าย แต่วิงที่เป็นรูปตัว U หรือเกือกม้านั้น จะสามารถกักเก็บอากาศไว้ที่ด้านใดด้านหนึ่งของวิงได้ ทำให้สามารถควบคุมสมดุลของวิงในกรณีที่มีน้ำหนักซ้ายขวาไม่เท่ากันได้ดีกว่า เป็นต้น


ในอดีตนักดำน้ำถังเดียวจะใช้วิงขนาด 28-32lbs เพราะมีให้ใช้อยู่แค่ขนาดเดียว และเพียงพอต่อการใช้งานของนักดำน้ำทุกขนาดตั้งแต่ XXS ถึง XXL แต่ปัจจุบันมีการผลิตซอยแบ่งขนาดวิงให้เหมาะสมกับนักดำน้ำมากขึ้น นักดำน้ำจึงควรเข้าใจการเลือกขนาดวิง เราไม่ค่อยซีเรียสกับนักดำน้ำตัวเล็ก ขนของน้อย เลือกวิงใหญ่ แต่เราต้องระวังเรื่องนักดำน้ำตัวใหญ่ ขนของเยอะ แต่เลือกใช้วิงเล็ก เพราะแรงยก (lift) ของวิงที่น้อยเกินไป จะไม่สามารถพยุงนักดำน้ำที่ผิวน้ำได้ และวิงที่มีขนาดใหญ่เกินไป ก็จะทำให้การควบคุมการลอยตัวนั้นยาก เนื่องจากวิงจะทำการห่อถัง การปล่อยลมทำได้ลำบาก ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อนักดำน้ำเอาวิง Twinset ไปใช้กับถังดำน้ำใบเดียวนั่นเอง ถ้าเป็นวิง single tank เหมือนกัน แต่ขนาดใหญ่ไปนิดบ้าง เช่น ผู้หญิงตัวเล็กหนัก 47-50 กิโลกรัมไปใช้วิงขนาด 28lbs ก็สามารถใช้ได้ ไม่มีปัญหาเรื่องการปล่อยลมแต่อย่างไร แต่วิงขนาดเล็ก (18-22lbs) มักจะถูกโฆษณาสำหรับ warm water diving ที่ปกติใช้ตะกั่วไม่มากอยู่แล้ว เพียงแต่ประสบการณ์ส่วนตัวเห็นได้ว่าเล็กเกินไป ต่อให้เป็นนักดำน้ำตัวเล็ก ก็จะมีปัญหาหน้าปริ่มผิวน้ำได้กรณีที่อยู่ในน้ำจืด หรือต้องรอเรือมารับในขณะที่สภาพอากาศมีคลื่นค่อนข้างมาก


แต่ผู้ผลิตก็ได้ผลิตวิงมาหลายขนาด ซึ่งกำหนดขนาดคร่าวๆได้ดังนี้ โดยแรงยกนี้กำหนดไว้สำหรับการดำน้ำในน้ำทะเล (ถ้าดำน้ำในน้ำจืดอาจจะพิจารณาขยับขนาดวิงให้ใหญ่ขึ้นไปที่ขนาดถัดไป)


  • Lift ขนาด 10-11 kg (20-22 lbs) เหมาะสำหรับนักดำน้ำ Single tank ที่มีขนาดตัวที่เล็กเทียบเท่ากับการใช้ Jacket BCD ขนาด XXS-S

  • Lift ขนาด 12-15kg (25-33lbs) เหมาะสำหรับนักดำน้ำ Single Tank ที่มีขนาดที่มีขนาดตัวที่เทียบเท่ากับการใช้ Jacket BCD ขนาด M-XL

  • Lift ขนาด 16-21kg (35-42lbs) เหมาะสำหรับนักดำน้ำ Single Tank ที่มีขนาดที่มีขนาดตัวที่เทียบเท่ากับการใช้ Jacket BCD ขนาด L-XXL

  • Lift ขนาด 20kg ขึ้นไป (40lbs++) เหมาะสำหรับนักดำน้ำที่ดำน้ำด้วยถัง Double หรือถังคู่ ที่ทำ Technical Diving ที่สามารถแขวนถัง Deco ไปด้วยกันได้ รวมถังด้านหลังอยู่ที่ 3-6 ใบ ขึ้นอยู่กับขนาดของวิง ที่นิยมกันก็จะมี 40lbs, 50lbs, 60lbs, หรือใหญ่มโหารขนาด 100lbs ก็มีให้เห็น



อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่เราอาจจะเห็นวางขายกัน เช่น Shoulder Pad, Weight Pocket, Trim Weight, Single Tank Adaptor นั้นถือเป็นอุปกรณ์เสริมที่ทำให้การดำน้ำของเราสบายขึ้นได้


อย่างไรก็ดี เรายืนยันได้ว่าการใช้ backplate ปกติ ประกอบเข้าไปกับถังดำน้ำ โดยไม่ใช้ single tank adaptor เลย เป็นสิ่งที่ทำได้กับวิงหลายยี่ห้อ และ STA ไม่มีความจำเป็น Backplate ที่มีช่องร้อยเข็มขัดรัดถัง และมีการปรับความตึงของเข็มขัดรัดถังอย่างถูกต้อง และ Backplate บางยี่ห้อ บางรุ่น ออกแบบให้ตัว plate เองเป็น single tank adaptor ในตัวได้ด้วย


💭 แนวคิดและข้อดีในการใช้ BPW


  • Modularity - อุปกรณ์ทุกอย่างสามารถปรับ ถอด สลับ ประกอบเข้าออกได้ทุกชิ้นส่วน ซึ่งทำให้การดูแลรักษาระยะยาวนั้นถูกลง เมื่ออุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่งเสียหาย สามารถเปลี่ยนเฉพาะชิ้นได้ และแทบไม่จำเป็นที่่จะต้องเป็นแบรนด์เดียวกัน เพราะ BPW 99% สามารถประกอบสลับข้ามยี่ห้อกันได้อย่างสนุกสนาน

  • Customizability - นักดำน้ำอย่างจะแต่ง BPW ของตัวเองให้เป็นอย่างไรก็ได้ เพื่อตอบสนองโจทย์ของการดำน้ำของนักดำน้ำทุกคน เช่น อยากให้อุปกรณ์ตัวเองน้ำหนักเบาขึ้น ก็สามารถไล่เบาด้วยการใช้ BP แบบคาร์บอนไฟเบอร์, D-ring อลูมิเนียม, และสาย Harness ที่นิ่มและบางเพื่อให้น้ำหนักอุปกรณ์โดยรวมเบาขึ้นได้

  • Long Lasting - สามารถใช้งานกับอุปกรณ์เดิมได้โดยไม่สนว่าคุณน้ำหนักขึ้น หรือคุณน้ำหนักลงเท่าไหร่ เพราะสามารถปรับขนาดให้เข้ากับนักดำน้ำทุกเพศทุกวัยทุกความสูงและน้ำหนักตัว

  • Control - การที่มีถุงลมด้านหลังทำให้การดำน้ำของคุณสบายมากขึ้นจากพื้นที่ด้านหน้าที่หายไป และการทำ trim ก็จะง่ายขึ้นด้วย back-inflated aircell

  • Scalability - การขยับจากดำน้ำถังเดียว ไปดำน้ำสองถังขึ้นไป ทำได้ง่าย และปรับตัวไม่ยาก

  • Low diving profile - การลดพื้นที่ผ้า หรือถุงลมของชุด BPW เมื่อเทียบกับ Jacket BC แล้วนั้นจะมีพื้นที่น้อยกว่า ซึ่งถ้าเข้าที่แคบในน้ำเช่นถ้ำหรือเรือจม ชุด BPW จะมีโอกาสติดกับสภาพแวดล้อมน้อยกว่า เพราะไม่มีเนื้อผ้าให้เกี่ยวติด มีแต่เนื้อคนเท่านั้นที่ติดไปกับเหล็กในเรือจม


ข้อคำนึงถึงการใช้ BPW

  • วิงจะกดให้หน้า diver ไปด้านหน้า หรือกดลงที่น้ำ ขณะที่อยู่บนผิวน้ำ

  • สามารถแก้ไขได้โดยการไม่เติมลมในวิงจนเต็มที่ผิวน้ำ แต่เติมแค่พอลอยได้ก็จะทรงตัวได้ง่ายขึ้นมาก และ สาย crotch strap ที่รัดเป้าอยู่นั้น จะทำหน้าที่ให้วิงอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ขยับไปไหน ซึ่งแท้จริงแล้ว Back-Inflated Jacket BC จะกดหน้านักดำน้ำมากกว่า เพราะไม่มี crotch strap ในการยึดตำแหน่งของ BC ไว้

  • แผ่นที่หลังจะทำให้อึดอัด

  • หลายคนคิดว่าการใช้แผ่นโลหะด้านหลังจะทำให้ไม่สบายตัว หรือถ้ามีน็อตอาจจะจิ้มหลังได้ แต่ในความเป็นจริงสรีระของมนุษย์จะมีส่วนเว้า ที่ทำให้หลบชิ้นส่วนที่เหมือนจะจิ้มหลังไปได้โดยธรรมชาติ ซึ่งถ้ายังไม่มั่นใจ ให้ไปลองใช้ BPW ที่ร้านที่มีให้เช่า ที่ Blue Culture Diving มีให้เช่า (เฉพาะในทริปของ Blue Culture Diving ทั้งนั้น)

  • การช่วยเหลือที่ผิวน้ำ

  • การช่วยเหลือที่ผิวน้ำจะทำได้ยากกว่า jacket bc เพราะว่าตำแหน่งยึดของมันไม่เหมือนกันกับ jacket ดังนั้น protocol ของมันควรจะแตกต่างกัน ถ้าเรียน rescue diver โดยการใช้ jacket bc แนะนำให้ลองปรึกษาครูผู้สอนคนนั้นถึงการช่วยเหลือนักดำน้ำในอุปกรณ์ที่ต่างกันออกไป

  • การจะใช้งานต้องฟิตติ้งให้ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญที่ไหนก็ได้ ให้ Blue Culture Diving ก็ฟิตติ้งให้ได้ เราเชี่ยวชาญมาก


❓FAQs


BPW ดีกว่า Jacket BC จริงหรือ?

จริง เพราะ BPW นั้นมีข้อดีเรื่องการลงทุนระยะยาวของนักดำน้ำทั่วไป และให้ความสบายมากกว่าในการดำน้ำด้วยพื้นฐานลักษณะของอุปกรณ์เอง รวมไปถึงความง่ายในการต่อยอด และซ่อมบำรุงอุปกรณ์ดำน้ำ และการที่วิงนั้นไม่ได้อยู่รอบตัวนักดำนน้ำ การใส่ชุดที่ผิวน้ำ จะพอดีตัวเหมือนเดิมเมื่ออยู่ใต้น้ำ ไม่มีเหมือนกับ Jacket ที่ถุงลมอยู่รอบตัว เมื่อเติมลม ลมจะดันตัวนักดำน้ำทำให้รู้สึกอึดอัดได้ และเมื่อปล่อยลมออกก็อาจจะทำให้ชุดหลวมได้ ซึ่งฟังก์ชั่นที่ชุด Jacket ทำออกมาเพื่อแก้ปัญหานี้นั้นก็มีอยู่ใน Jacket รุ่นที่ราคาสูง


และไม่จริง เพราะ Jacket BC นั้นมีความง่ายในการติดตั้งชุด และใช้งานง่ายกว่า BPW ไม่เช่นนั้นโรงเรียนสอนดำน้ำก็คงจะใช้ BPW ในการสอน open water diver กันไปหมดแล้ว เพราะ Jacket BC ทำให้หน้าของนักดำน้ำมือใหม่พ้นน้ำได้ปลอดภัยกว่า BPW จึงทำให้ Jacket ยังเป็นที่นิยมอยู่เสมอ รวมไปถึงน้ำหนักที่ Jacket BC แทบไม่ต่างกัน หรือน้อยกว่า BPW เสียด้วยซ้ำไป การเข้าช่วยเหลือก็ง่าย ราคาก็ถูก ต้นทุนด้านอุปกรณ์ก็จะต่ำลง

การเลือกซื้อ BC ของนักดำน้ำ หรือโรงเรียนสอนดำน้ำ ย่อมมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ดีแบบไหน ดีกับใคร ผู้ใช้จะเป็นผู้ตัดสินเอง เพราะเราใช้ทุกแบบจนบอกได้ว่า ทักษะสำคัญกว่าอุปกรณ์ แน่นอนที่สุด


BPW เหมือนกันกับ Back-inflated Jacket BC ไหม?

BPW และ Back-inflated BC มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในทั้งในคอนเซปต์ Modularity ที่สลับของเปลี่ยนได้ และ flexibility ที่แต่งของอย่างที่ต้องการได้ และความกระชับตัวของ Harness จะแตกต่างกันอย่างกันอย่างเห็นได้ชัดเมื่อใช้งาน อย่าเพิ่งเชื่อถ้ามีคนบอกว่าเหมือนกัน


ใช้ Stainless Steel, Aluminum, Carbon หรือ Titanium BP ดี?

  • BP stainless steel จะมีน้ำหนักมากที่สุด และมีความแข็งแรงสูง ปกติจึงมักจะนิยมใช้กันในผู้ที่ดำน้ำด้วย dry suit เพราะจะช่วยลดน้ำหนักตะกีาวที่ต้องถ่วงเพิ่ม และจะช่วยให้การจัดน้ำหนักทำได้ง่ายขึ้น แต่ปัจจุบันมีหลายยี่ห้อ ที่นำ stainless steel มาเจาะฉลุเพื่อลดน้ำหนัก แต่ยังคงไว้ซึ่งความแข็งแรง


  • BP Aluminum นั้นจะให้น้ำหนักที่เบากว่า แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการวางของที่มีน้ำหนักมากไว้บน plate เพราะอลูมิเนียมมีเนื้อที่อ่อนกว่าและเสียรูปได้ง่ายกว่าสแตนเลส และต้องระวังการใช้น็อต stainless ที่ยึดเข้ากับโลหะอลูมิเนียม เพราะจะเกิด galvanic corrosion ที่ทำให้อลูมิเนียมถูกกัดกร่อนลงไป


  • BP Titanium นั้นให้ความแข็งแรง และเบา แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าตัวที่สูง และที่สำคัญคือ Titanium ไม่ค่อยก่อให้เกิด Galvanic Corrosion ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะ BP สามารถยึดโลหะที่ต่างประเภทกัน แต่เกิดการกัดกร่อนน้อยกว่า


  • BP Carbon นั้นให้ความเหนียมและเบาที่สุดเพราะเกิดมาจากเส้นไยทอเป็นแผ่นแล้วลงเรซิ่นเพื่อให้เกิดการแข็งตัวเกิดขึ้น จะมีค่าตัวสูง แต่ให้ความแข็งแรงและเหนียว ทนแรงบิดได้ดี ข้อควรระวังคือการใช้น็อตตามจุดยึดต่างๆ เพราะเกลียวน็อตอาจจะขูดเรซิ่นเป็นรอยได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักดำน้ำที่ใช้ BP Carbon กับ Twinset เพราะต้องใช้น็อตในการประกอบชุด


ใช้ BP ที่เป็นโลหะแล้วไม่ต้องใช้ตะกั่วได้ไหม?

คำตอบคือได้ เพราะถ้าคุณใช้ตะกั่วน้อย หรือควบคุมการลอยตัวได้ดี ตะกั่วถ่วงก็แทบไม่จำเป็นถ้าคุณใช้ BP ที่เป็นโลหะ หรือมีน้ำหนักมากพอที่จะทดแทนการใช้ตะกั่วได้ แต่อย่างไรก็ดีการทำแบบนี้นั้นจะต้องระวังให้มากขึ้น เพราะในกรณีฉุกเฉินจะไม่สามารถทิ้งตะกั่วเพื่อให้ลอยสู่ผิวน้ำได้ เพราะไม่มีน้ำหนักที่ทิ้งได้เลย จึงควรพิจารณาการวางตำแหน่งแบบ balanced rig เพื่อให้มีน้ำหนักที่สามารถทิ้งได้ด้วยเพื่อความปลอดภัย


Trim Weight จำเป็นไหม?

กระเป๋าตะกั่วใบเล็กๆที่ติดตั้งไว้บนสายรัดถังดำน้ำนั้น สามารถใช้ได้เพื่อปรับ trim ดำน้ำหรือไม่ต้องการเพิ่มน้ำหนักที่กระเป๋าตะกั่วด้านหน้ามากเกินไป แต่น้ำหนักอันนี้เป็นน้ำหนักที่ไม่สามารถทิ้งได้ในกรณีฉุกเฉินเช่นกัน จึงควรจัดน้ำหนักให้มีจุดที่สามารถทิ้งได้ด้วย และการที่น้ำหนักอยู่ที่หลังวิงมากเกินไป จะทำให้การทรงตัวให้นิ่งใต้น้ำทำได้ยากเพราะน้ำหนักที่ไปอยู่ด้านหลังของนักดำน้ำมากเกินไป ด้านที่หนักกว่าจะทำการตกอยู่จุดต่ำสุดเสมอ ทำให้นักดำน้ำกลิ้งได้ง่ายและเร็ว จนบางครั้งอาจจะเกินการควบคุมได้


BPW ใช้ยากกว่า Jacket ไหม?

BPW และ Jacket เมื่อมีความเคยชินแล้ว จะใช้งานได้คล่องแคล่วเท่ากัน ถ้าเปรียบเทียบเป็นรูปธรรม ก็จะมองว่าใน BPW นั้น ตัวมันเองมีเรื่องที่ยุ่งยากกว่า (เช่น การใช้ Crotch strap, การที่จุดปล่อยลมน้อยลง, การฟิตติ้งอุปกรณ์ม การแต่งตัวเข้าชุด สำหรับ DIR Harness จะยากกว่าเล็กน้อย, การพยุงตัวที่ผิวน้ำ, การถอดใส่อุปกรณ์ที่ผิวน้ำ และใต้น้ำ) และก็มีเรื่องที่ง่ายกว่า (เช่น การรักษาท่าดำน้ำใน Trim, การเคลื่อนไหวในน้ำที่คล่องตัวกว่าเล็กน้อย) เช่นกัน การเริ่มต้นดำน้ำกับ Jacket BC จึงทำได้ง่ายกว่า แต่การเริ่มต้นดำน้ำด้วย BPW นั้นก็ทำได้เช่นกันหากครูผู้สอนมีประสบการณ์การใช้ BPW มาก่อน


และการฟิตติ้ง DIR Harness สามารถทำได้โดยอ้างอิงจากบทความของเราได้ที่



🪙 ลงทุนระยะยาวทีเดียว แบบไหนคุ้ม?


ถ้าหากว่าเราเป็นนักดำน้ำที่อยากได้อุปกรณ์ดีๆสักชิ้นหนึ่ง แล้วจะซื้ออะไรดีที่มันคุ้มค่า BPW น้ันค่าใช้จ่ายระยะยาวจะถูกกว่า เช่น ถ้าถุงลมฉีกขาด ก็เปลี่ยนแค่ถุงลม น้ำหนักตัวเปลี่ยนก็แค่เปลี่ยนสาย Harness ใหม่ จะต้องการอุปกรณ์เสริมเช่นกระเป๋าตะกั่ว ดีริงเพิ่ม ก็สามารถซื้อแยกมาประกอบเข้าด้วยกันได้เลย ซึ่งตรงนี้ Jacket BC จะเสียเปรียบ เพราะถึงแม้ค่าตัวที่ถูกกว่า แต่ถ้าเก็บรักษาไม่ดี หรือใช้งานแล้วมันไปโดนของมีคมเกิดรั่ว ถ้าซ่อมได้ก็สามารถใช้ต่อได้ แต่ถ้าซ่อมไม่ได้ ต้องซื้อใหม่ทั้งชุด หรือถ้าน้ำหนักลง แล้วชุดมันหลวม (หรือกลับกัน) ก็ต้องซื้อชุดใหม่เช่นกัน


ถ้าเราเป็นสายอุปกรณ์ อนาคตจะขยับขยายไปเรียน TEC ทั้งแบบตั้งใจจะไปเรียนตอนนี้ หรืตอนนี้ยังไม่ได้คิดว่าจะไปเรียนอะไรขนาดนั้นเลย BPW จะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม เพราะไม่ว่าคุณจะไปต่อหรือไม่ BPW ก็พร้อมไปกับเราเสมอ จึงมักมีคนเปรียบเทียบว่า ใช้ BPW ดำน้ำเล่นได้ อยากไปเทคก็ได้ แต่ใช้แจ็คเก็ต จะไปเทค ต้องซื้อ BPW ใหม่ทำให้มีค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน


BC นั้น มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน หากดูแลรักษาดีๆจะมีอายุใช้งานเกิน 10 ปีแน่นอน ดังนั้นไม่ว่าการซื้ออุปกรณ์แบบใดๆจึงสามารถวางใจได้ถึงความทนทานในการใช้งาน


BPW สามารถ Custom ได้ขนาดไหน?

BPW ใช้ความได้เปรียบของระบบ Modular ที่สามารถเปลี่ยนอะไรก็ได้ ตรงไหนก็ได้ โดยดูได้จากตัวอย่างของ TECLINE Set Creator ที่มีให้เลือกว่าอยากได้ Backplate แบบไหน ระบบ Harness แบบไหน และใช้เข้ากับ Wing อะไร ซึ่งจะเห็นได้ว่าทางเลือกมีมากมาย มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งสามารถติดต่อกับเรา Blue Culture Diving ให้ช่วยแนะนำอุปกรณ์ที่เหมาะกับการใช้งาน และงบประมาณของคุณได้เลย



bottom of page