top of page
ค้นหา

ดำน้ำเรือจมกันที่พัทยา บทที่ 1/3 "เรือกูด"

ถ้าใครชอบเรือจมหล่ะก็ พัทยาเป็นจุดดำน้ำใกล้เมืองหลวงที่น่าสนใจมาก เป็นเพราะที่พัทยามีเรือจมวางอยู่ถึงเพื่อการดำน้ำลึกถึงสามลำ นั่นคือ

  1. เรือกูด วางอยู่ใกล้เกาะสาก

  2. เรือคราม วางอยู่ใกล้เกาะไผ่

  3. เรือมัตโพน วางอยู่ใกล้เกาะล้าน

การเข้าใจประวัติเรือจม ทำให้การลงไปชมเรือใต้น้ำมีความสนุกสนานมากขึ้น และปลอดภัยมากขึ้นถ้าหากเราศึกษาเส้นทางการดำน้ำเรือจมของเรือลำต่างๆ ซึ่งเรือจมทั้งสามลำในพัทยา มีช่องให้สามารถเข้าไปด้านในได้ แต่ถ้าหากเข้าไปโดยไม่มีความพร้อม ความเสี่ยงอันตรายจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

เรือกูด (ex HTMS Kut (LSM-731), ex USS LSM-333 "EXNO")

LSM-333 เป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดกลาง (Landing Ship Medium) ที่ใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งขนาดเรือคือจัดว่าเล็กว่าเรือ Landing Ship Tank (LST) หรือ Landing Craft Infantry (LCI) เป็นหนึ่งในเรือทั้งหมด 558 ลำที่ต่อขึ้นในช่วงปี 1944 - 1945 แต่สุดท้ายเรือเหล่านี้ส่วนมากจะถูกนำไปทำเศษเหล็กในช่วงสงครามเย็นเสียซะงั้น อย่างไรก็ดี มีเหลือ LSM หลายลำถูกจำหน่ายถ่ายโอนไปยังประเทศต่างๆ โดยประเทศไทยก็ได้รับมาทั้งหมด 3 ลำ นั่นก็คือ LSM-333 (รล.กูด), LSM-338 (รล.ไผ่), และ LSM-469 (รล.คราม)


ในส่วนของเรือหลวงกูดนั้นวางกระดูกงูในวันที่ 27 มิถุนายน 1944 ที่บริษัทพูลแมน เมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และปล่อยเรือในวันที่ 13 ตุลาคม ในปีเดียวกัน โดยได้รับหมายเลข LSM-333 โดยในช่วงสงครมโลกครั้งที่สอง LSM-333 ได้ประจำสมรภูมิรบเอเชียติก-แปซิฟิก โดยได้เข้าร่วมภารกิจโจมตีและเข้ายึดโอกินาวา ในช่วงวันที่ 28 เมษายน ถึง 18 พฤษภาคม 1945 หลังจากนั้นจึงมาประจำการอยู่บริเวณตะวันออกไกลจนกระทั่งปลดระวางในวันที่ 17 กรกฎาคม 1946


ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน LSM-333 ได้ถูกถ่ายโอนมายังราชนาวีไทย โดยเปลี่ยนชื่อเป็น HTMS KUT และเลขเรือเปลี่ยนเป็น LSM-1 และภายหลังเปลี่ยนเลขอีกครั้งเป็น LSM-731 และรับใช้ราชนาวีไทยจนถึงคราวปลดระวางในวันที่ 13 มกราคม 1989

ตัวเรือมีขนาดยาว 62.03 เมตร กว้าง 10.52 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 1,095 ตัน ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์ดีเซลแฟร์แบ้งค์ มอร์ส โมเดล 38D8-1/8X10 จำนวนสองเครื่อง กำลังเครื่องยนต์ เครื่องละ 1,440 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 13.2 น็อต ความเร็วมัธยัสถ์ 12 น็อต พิสัยเดินทาง 4,900 ไมล์ทะเล (9,100 กิโลเมตร) มีปืนต่อสู้อากาศยาน 20mm จำนวน 6 กระบอก

เรือกูดได้จอดอยู่ที่ท่าเรือพระจุลจอมเกล้าจนกระทั้งวันที่ 17 กันยายน 2006 ได้มีการนำเรือกูดไปวางไว้ใกล้บริเวณเกาะสาก จากจัดทำโครงการอุทยานใต้ทะเล เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ณ บริเวณเกาะสาก อ่าวพัทยา จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 17 ก.ย. 2549 เวลา 10.00 น.

เรือจมอยู่ในลักษณะวางราบบนท้องเรือที่พื้นทะเลลึก 30 เมตร หัวเรือเปิดอยู่แต่แผ่นเหล็กที่ใช้ยกพลขึ้นบกนั้นถูกยกขึ้นไว้ ทำให้ไม่สามารถว่ายทะลุจากหัวเรือได้ กราบขวาเรือมีหอบังคับการเรือตั้งอยู่ โดยยอดหอบังคับการอยู่ที่ความลึก 15 เมตร ดาดฟ้าเรือมีลักษณะเปิดเพื่อให้รถถังจอดได้ ด้านกราบซ้ายขวาจะมีส่วนที่ว่ายน้ำทะลุได้ โดยด้านใน

ด้านล่างเรือมีลักษณะห้องอยู่ด้านใน สามารถ access ได้ด้วยจากกลางดาดฟ้าเรือ หรือบันใดด้านในกราบขวาเรือ ซึ่งเข้าได้เฉพาะผู้ที่มีบัตรดำน้ำระดับ Advanced Wreck Diver เท่านั้น จึงขอให้นักดำน้ำที่ยังไม่มีวุฒิบัตรดังกล่าว งดเข้าบริเวณนี้โดยเด็ดขาด

บริเวณเรือโดยรอบเต็มไปด้วยปลามากมาย เนื่องจากเป็นแหล่งอาศัยของปลาที่ป้องกันการลากอวนได้อย่างดี แต่การหาหมายเรือลำนี้มักจะยาก เนื่องจากเชือกทุ่นเรือมักจะหายบ่อยๆ จึงต้องอาศัยเรือดำน้ำที่พานักดำน้ำมาประจำ


reference: navsource.org

ดู 68 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page