top of page
ค้นหา

M-Value กับ GF ใน Buhlmann Decompression Model

การดำน้ำโดยใช้ Dive Computer ที่อาศัยการคำนวนโดยการใช้ algorithm ของ Buhlmann นั้นจะวนเวียนอยู่กับค่า M-Value และ Gradient Factors เป็นสำคัญ ซึ่งไดฟ์คอมพิวเตอร์หลายยี่ห้อนั้นอนุญาตให้นักดำน้ำสามารถปรับ GF ได้ด้วยตนเอง ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ของนักดำน้ำแต่ละคนไป แต่ก่อนที่จะเข้าใจการปรับ GF ได้นั้น จะต้องเข้าใจหลักกระบวนการคิดของ Buhlmann และ M-Value เสียก่อน ถึงจะปรับได้อย่างมีความเข้าใจมากขึ้น


หลักการดำน้ำนั้น กล่าวโดยง่ายคือ

  • เมื่อเราลงไปในที่ลึก หายใจก๊าซที่มีแรงดันมากขึ้น ตามกฎของ Henry Law คือ แรงดันในของเหลวจะเป็นสัดส่วนเท่ากันกับแรงดันของก๊าซเหนือของเหลว ยิ่งเราดำน้ำลึกเท่าไหร่ แรงดันก๊าซที่เราหายใจจะมีมากขึ้น และทำให้ก๊าซนั้นทำละลาย (หรือ กำซาบ) เข้าสู่ร่างกายของเรา เราเรียกการนำก๊าซเข้าร่างกายว่า on-gassing

  • เมื่อแรงดันของก๊าซในเนื้อเยื่อของร่างกายนักดำน้ำนั้นมีเท่ากันกับแรงดันของก๊าซหายใจแล้ว ก๊าซจะไม่มีการทำละลายเข้าสู่เนื้อเยื่ออีก ซึ่งเนื้อเยื่อที่มีก๊าซทำละลายเท่ากับแรงดันของก๊าซที่ใช้หายใจนั้น เราจะเรียกว่าเนื้อเยี่อนั้นมีสภาวะการอิ่มตัวของก๊าซแล้ว (saturated tissue)

  • เมื่อเราเสร็จสิ้นภารกิจการดำน้ำในที่ลึก และกำลังขึ้นสู่ที่ตื้นนั้น แรงดันก๊าซที่หายใจอยู่จะลดลง เกิดให้แรงดันก๊าซที่ทำละลายอยู่ในเนื้อเยื่อนั้น น้อยกว่าแรงดันก๊าซที่หายใจอยู่ เกิดภาวะแรงดันก๊าซเกินอิ่มตัว (supersaturated tissue) และก๊าซเหล่านั้นก็จะการระบายออกมาจากเนื้อเยื่อของผ่านปอด และการหายใจของนักดำน้ำ เราเรียกการนำก๊าซออกจากร่างกายว่า off-gassing หรือ desaturation of tissue

การ off-gassing นี้นั้น จะมีความปลอดภัยถ้าเรากระทำโดยไม่เกิน dive computer กำหนดคค่าไว้ เพราะจากการค้นคว้าวิจัยพบว่า เนื้อเยื่อในร่างกายนักดำน้ำจะสามารถทนการเกิด supersaturation ได้ระดับหนึ่งก่อนที่จะเกินระดับความไม่ปลอดภัย ซึ่งนักดำน้ำนั้นได้กำหนดค่าทนการเกิด supersaturation สูงสุดไว้ ซึ่งค่านั้นคือ M-Value (Maximum Value) นั่นเอง ขณะที่นักดำน้ำเปลี่ยนความลึก จากที่ลึก สู่ที่ตื้น ค่า supersaturation ก็จะสูงขึ้น และการ off-gassing จะทำให้ค่า supersaturation ลดลง ถ้าหากนักดำน้ำมีการขึ้นสู่ที่ตื้นเร็วเกินไป ค่า supersaturation นั้นเกินค่า m-value ขึ้นไป ความเสี่ยงของการเกิด DCS นั้นก็จะมีมากอยู่ในระดับที่อันตราย หรือเกิดฟองอากาศที่ทำให้มีอาการเจ็บป่วยได้ (symptomatic bubbles)

เพื่อไม่ให้การดำน้ำนั้นมีความเสี่ยงมากเกินไป เราจะมีการตั้ง safety margin ในการดำน้ำ ไม่ให้ supersaturation level อยู่ใกล้กับ m-value มากเกินไปนัก ดังนั้นเราจะมีการตั้งค่า safety level หรือเรียกว่า Gradient Factor นั่นเอง

การตั้งค่า GF นั้นจะมีเลขสองค่า คือ GFlow และ GFhigh ซึ่งสองค่านี้จะถูกเขียนเป็น Low/High ตัวอย่างเช่น 50/70, 35/85, หรือ 50/80 เป็นต้น


GF Low - จะเป็นการตั้งค่าตัวล่างของ GF ให้เป็น % ของ M-Value เช่น 50% ของ M-value ซึ่งยิ่งตัวเลขต่ำ First Decompression Stop จะเริ่มต้นในที่ลึก


GF High - จะเป็นการตั้งค่าตัวบนของ GF ให้เป็น % ของ M-Value เช่น 70% ของ M-value ซึ่งยิ่งตัวเลขต่ำ เวลา Decompression Stop สุดท้ายจะนานมากขึ้น เพื่อให้มีเวลาในการระบายไนโตรเจนอย่างเต็มที่ และเมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำจะมีค่า tissue supersaturation อยู่ที่ 70% ของ M-value นั่นเอง ซึ่งยิ่งค่า GF High ต่ำ ถึงแม้จะมีการทำ decompression stop ที่นานขึ้น แต่ร่างกายของนักดำน้ำเอง ก็จะรู้สึกเหนื่อยน้อยลงเมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำ เนื่องจากเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายนั้นจะมีการตึงเครียดขณะลดแรงกด (decompression stress) ซึ่งส่งผลให้เรารู้สึกเหนื่อยๆ เฉื่อยๆ หรืออยากนอนหลังจากขึ้นมาจากการดำน้ำ ถ้าหากนักดำน้ำมีอัตรา supersaturate สูง ก็จะมี decompression stress ที่มากกว่านักดำน้ำที่มีสัดส่วน supersaturate ต่ำกว่า


การตั้งค่า GF จะตั้งมั่วซั่วส่งเดชโดยไม่เข้าใจการทำงานจะมีผลโดยตรงต่อ dive profile ของนักดำน้ำเอง ถ้าไม่แน่ใจเรื่องการตั้งค่า GF ควรใช้ Preset ของ dive computer ที่มีมาให้ รวมไปถึงการตั้ง GF เมื่อดำน้ำเป็นทีม หรือกับคู่บัดดี้ ที่ต้องอ้างอิงค่า NDL ของนักดำน้ำในกลุ่มที่น้อยที่สุด จึงต้องมีการวางแผนกับทีมว่าจะใช้ GF ระดับเดียวกัน เพื่อให้ประสบการณ์ดำน้ำของเราปลอดภัย และสนุกที่สุดอีกด้วย

 
 
 

Commentaires


bottom of page