
เร็กกูเลเตอร์นั้นเป็นอุปกรณ์ที่จะคอยจ่ายอากาศให้เราใต้น้ำ เป็นเครื่องมือพยุงชีพใต้น้ำที่ต้องมีการบำรุงรักษาอยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหลายคนมักจะกังวลกันว่าเร็กกูเลเตอร์เก่าๆ หรือโมเดลที่เลิกผลิตไปแล้วนั้น ยังน่าใช้อยู่ไหม? ต้องเปลี่ยนใหม่หรือเปล่า? หรือว่าถ้าจะซื้อมือสองเก่าๆแล้วจะได้ใช้อย่างต่อเนื่องได้ไหม? บทความนี้จะเข้ามาเจาะประเด็นนี้กันดีกว่า ถึงข้อดี ข้อเสีย และระบุถึงยี่ห้อที่สามารถซื้อได้อย่างไม่น่ากังวลอีกด้วย
เวลาคือผู้พิสูจน์ทุกสิ่ง

เร็กกูเลเตอร์ของเรานั้นทำมาจากวัสดุหลายประเภท เช่น โลหะทองเหลือง, สแตนเลสสตีล, ยาง, หรือพลาสติก ซึ่งแต่ละอย่างนั้นมีความสามารถในการทนต่อการเสื่อมสภาพแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการใช้งาน, การดูแลรักษา, และการจัดเก็บของผู้ใช้ที่แตกต่างกันออกไป หากมีการแขวนไว้ที่บ้านริมทะเลไม่ปิดหน้าต่างให้เรียบร้อย สนิมเขียวจะขึ้นทั้งตัวก็ไม่แปลกอะไร แต่สามารถล้างสะอาดกลับมาได้เกือบเหมือนเดิมก็ทำได้ ซึ่งจะยังคงไว้ซึ่งร่องรอยความเสียหายจากการกัดกร่อนไว้บนตัวอุปกรณ์ตลอดไป แต่หากยังใช้งานได้ตามปกติก็จะยังไม่มีปัญหาในระยะยาวอื่นใดนอกจากสนิมเขียวจะเกาะบริเวณที่ผิวถูกกัดกร่อนได้ง่ายกว่าเดิมมาก แต่การเซอร์วิสทุกปีก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานอื่นใด

อย่างไรก็ดี อุปกรณ์วัสดุที่เป็นยาง จะเป็นสิ่งแรกๆที่โชว์ความเสื่อมของเวลาออกมาได้เร็วกว่าเพื่อน เพราะฉนั้นเร็กกูเลเตอร์บางตัวที่เป็นยางจะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง purge button cover ที่เป็นเฉพาะรุ่นทำให้การหาอะไหล่ที่เป็นส่วนด้านนอกนั้นนั้นยากขึ้น อุปกรณ์ดำน้ำรุ่นเก่าที่ยังใช้งานได้จนถึงทุกวันนี้มานานหลายสิบปี จึงมักจะเป็นเร็กกูเลเตอร์ที่ไม่มีหน้าตาเป็นยาง แต่เป็นพลาสติกผสมไฟเบอร์ที่แข็งแรง และมีปุ่มกด purge button ที่เป็นปุ่มสปริง มากกว่าที่มี purge button เป็นยางนั่นเอง โดยรุ่นที่เราได้ยินและนิยมกันมากและยังเห็นทั่วไปบนเรือดำน้ำก็คือ Scubapro R190, Mares Axis, Mares Rebel, Apeks TX50 เป็นต้น ซึ่งยังไม่รวม first stage ที่มีจำหน่ายมายาวนานอย่าง Scubapro MK2, หรือ Mares R2 ที่ยังทำงานอย่างไว้ใจได้จนถึงทุกวันนี้
เก่าใหม่ใส่ อะไหล่/service kit ร่วมกันได้หมดได้อย่างสบายใจ

แม้เร็กกูเลเตอร์มีการพัฒนาหน้าตาด้านนอกให้สวยงามตามสมัย แต่ภายในเร็กกูเลเตอร์แทบทุกยี่ห้อ ไม่มีการพัฒนาส่วนภายในใดๆอย่างเป็นนัยยะสำคัญมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว สังเกตุได้จากชุดซ่อมอุปกรณ์ดำน้ำ ที่อุปกรณ์ดำน้ำรุ่นใหม่ๆ กับอุปกรณ์ดำน้ำรุ่นเก่า (10 - 15 ปี) ยังสามารถใช้ชุดซ่อมชุดเดียวกันได้ ยกตัวอย่างเช่น Apeks TX50 ที่ออกมาคู่กันกับ Apeks DST first stage regulator ตั้งแต่ปี 1995 ถ้าเห็นหน้าตาของ first stage ที่ดูร่วมสมัยมาตลอดเวลา ก็คงไม่แปลก เพราะว่าปัจจุบันในปี 2025 นั้น เจ้า DST ก็ยังคงถูกผลิตจาก apeks และยังจำหน่ายอยู่นั่นเอง ทำให้เรื่องการหาอะไหล่สำรองยังไม่เป็นปัญหามามากกว่า 30 ปี

อีกอย่างหนึ่งนั่นคือ Apeks ทุกรุ่น ยกเว้น Apeks Flight และ XL4 second stage จะสามารถใช้ Service Kit ร่วมกันกับ apeks ทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็น first stage US4, DS4, UST, DST, FST, FSR, MTX-RC, EVX200, XL4 Ocea หรือ Second Stage รุ่น TX50, ATX100, XTX200, MTX-RC หรือ EVX200 ก็จะใช้ Service Kit รุ่นเดียวกันทั้งหมด ทำให้การซ่อมบำรุงเร็กที่ใช้ชุดซ่อมร่วมกัน ไม่มีปัญหาเรื่องการดูแลรักษาระหว่างการใช้งาน นี่ยังไม่รวมถึง Part ต่างๆของ second stage ที่สามารถใส่ร่วมกันได้ในรุ่น XTX - MTX อีกด้วย ทำให้การใช้ apeks รุ่นเก่าๆนั้นค่อนข้างสบายใจ

แต่ไม่ได้มีแค่ Apeks เท่านั้นที่ออกแบบให้ parts ร่วมกันได้เป็นอย่างดี แต่เจ้าใหญ่อย่าง Scubapro ก็ทำเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือรุ่น MK25 ที่ผลิตมาตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปัจจุบัน MK25evo ก็ยังใช้หลายชิ้นส่วนร่วมกันและยังใช้ service kit ชุดเดียวกันมาโดยตลอด รวมไปถึงใช้ชุดซ่อมเดียวกันนี้กับ MK20 ที่ออกมาช่วงปี 90s อีกด้วย และชิ้นส่วนสำคัญเช่น Piston, Spring, IP Adjuster ก็สามารถใส่ข้ามรุ่นกันได้มากว่า 30 ปี หรือ G250 ที่ออกมาตั้งแต่ปี 1985 นั้น ยังใช้ชุดซ่อมเดียวกันกับ S600 ที่ปัจจุบันยังขายอยู่ และขายมาตั้งแต่ปี 2001 อีกด้วย ซึ่งมีหลาย generation ที่สามารถอัพเกรดพาร์ทให้ใช้รุ่นปัจจุบันได้ด้วย

แม้กระทั้ง Aqualung Legend นั้นได้ออกมา 3 generation แล้ว แต่ก็ยังใช้ service kit ชุดเดียวกัน รวมไปถึง Aqualung Legend generation ที่ 2 และ Leg3nd รุ่นที่ 3 นั้น แทบจะแตกต่างแค่เรื่องของ cosmetic เลยทีเดียว เพราะยังใช้บอดี้เดียวกันอยู่ แต่ทำให้สวยงามขึ้นและเพิ่ม heat exchange fins ในส่วนของ second stage เท่านั้นเอง
Performance เท่ากันหรือแตกต่างกัน?
การที่ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ชุดใดชุดหนึ่งตกลงไปนั้น บางครั้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับรุ่นใหม่รุ่นเก่า หากไม่มีนวัตกรรมใหม่ที่พัฒนา air flow ให้ได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น VAD+ ของ Mares แล้วหล่ะก็ การถอถอยของการทำงานมักเกิดมาจากลูกยางที่เสื่อมลง หรือแรงสปริงที่ล้าลงไป ซึ่งอะไหล่หาซ่อมยังทำได้ง่ายอยู่ก็ไม่ใช่ปัญหาในการใช้งาน
การใช้อุปกรณ์ที่ตกรุ่นไม่ได้แปลว่ามันใช้ไม่ได้ ตราบใดที่การควบคุมแรงดันยังทำงานได้อย่างปกติสมบูรณ์และยังหาชุดซ่อมและช่างซ่อมได้ อุปกรณ์ดีๆราคาถูกจับต้องได้ ย่อมทำงานกับเราได้อีกนานหลายปี
Comments