top of page
ค้นหา

สันทัดสมุทร 4 ของดีชุมพร

อัปเดตเมื่อ 6 มิ.ย. 2566

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชุมพร ได้รับแจ้งเหตุเรืออับปาง บริเวณอ่าวไทย จ.ชุมพร จากการตรวจสอบพว่า เรือคันเกิดเหตุ ชื่อเรือสันทัดสมุทร 4 ประเภทเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต หมายเลขทะเบียนเรือ 600003096 เจ้าของคือ บจก.สันทัดและบุตร

ถือเป็นเรือลำที่ 2 ของ บจก.สันทัดและบุตร ที่เกิดอุบัติเหตุทางทะเล ต่อจากเรือสัดทัดสมุทร 3 ในปี 2563 และตามด้วยเรือสันทัดสมุทร 2 ในวันที่ 18 ธันวาคม 2565 (วันเดียวกันกับวันที่ รล. สุโขทัย อับปางที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นั่นเอง)

ปัจจุบันเรือสันทัดสมุทร 4 นอนจมอยู่ที่ทะเลจังหวัดชุมพร นอกเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที ถือเป็นเรือจมใหม่ที่ยังมีความสะอาดอยู่ และเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของหมู่ปลามากมาย


สายบ้าเรือจมอย่าง Blue Culture Diving มีหรอจะไม่อยากมาดูให้เห็นด้วยตาตัวเอง


ทีมของเราเดินทางมาที่ท่าเรือแต่เช้า แล้วเดินทางออกไปดำน้ำที่เรือสันทัดสมุทร 4 แล้วก็พบความสวยงามของเรือจมลำนี้


เรือสันทัดสมุทร 4 จมในลักษณะตั้งตรงเหมือนเรือปกติ (Upright position) โดยตัวเรือมีความยาว 79 เมตร และ กว้าง 12 เมตร และจมอยู่ที่พื้นทะเลอยู่ที่ 37-40 เมตร โดยลักษณะเป็นพื้นเลน ในวันที่เราไปนั้นทัศนวิสัยใต้น้ำอยู่ในขั้นปานกลาง อีกนิดจะเป็นน้ำราดหน้าแล้ว โดยเป็นน้ำแบ่งชั้น คือ 0-25 เมตร พอมองเห็น 25 เมตรลงไปมองอะไรไม่เห็นแล้ว แต่เราก็เห็น superstructure ของเรือได้อย่างชัดเจน โดยโครงสร้างอาคารของเรือนับตั้งแต่ดาดฟ้าเรือมีทั้งหมด 4 ชั้น โดยมีสะพานเดินเรืออยู่ชั้นบนสุด และยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก โดยเสากระโดงที่มีส่วนสูงมากงอลงในระดับความลึกเท่ากับหลังคาของสะพานเดินเรือแล้ว (น่าจะเป็นเรืองความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือ) โดยเราจะเริ่มดำน้ำที่ความลึกประมาณ 19-20 เมตร และสะพานเดินเรือก็จะเริ่มที่ความลึก 23 เมตร ความลึกระดับนี้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ก๊าซผสมแบบ Enriched Air Nitrox เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของนักดำน้ำที่ลงไปเยี่ยมชมด้านล่าง เนื่องจากถ้าใช้ Air NDL จะน้อยนิดกระจิดริดมาก ถือเป็นการลงทุนซื้อ Nitrox ที่คุ้มค่า และถ้ารู้ว่าใช้อากาศเปลืองหล่ะก็ twinset หรือ sidemount เถอะ ถ้าอากาศจะหมดไปขอแบ่งเพื่อนก็ได้ไม่ต้องเขิน

ดาดฟ้าเรือด้านหลังอยู่ที่ความลึก 28 เมตร โดยอุปกรณ์หลายอย่างยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ป้ายสติกเกอร์ยังอ่านได้หลายอย่างและเรือเริ่มมีหอยเกาะอยู่ทั่วบริเวณเรือ


ด้านนอกมีปลาจำนวนมากอาศัยอยู่ที่บ้านใหม่แห่งนี้ เช่นปลาสากหางเหลือง ปลาหูช้าง ฝูงปลากระมง ปลาน้ำดอกไม้ ปลาเก๋า ปลากระพงแดง และปลาอีโต้มอญ (dolphin fish) อีกด้วย

Santadsamut 4 Wreck

ทริปนี้เราก็ได้ไปกับเพื่อนๆน่ารักหลายคน ต้องขอบคุณ

- ครูก๊อต Chumphon Scuba ที่พาเราไปที่นี้ด้วยเรือที่กว้างขวางและแสนสบาย

- ครูท้อป Travel Butler สายฮา

- ครูโอป ดำน้ำยังไงไม่ให้โสด สำหรับรูปสวยๆ (Credit รูปภาพครูโอป)

- ครูน้ำหวานกับรูปของ Blue Culture Diving

- ทีม PinCrew สายชิว


อย่างไรก็ดี เรือลำนี้ก็ยังมีผู้ถือกรรมสิทธิ์เรืออยู่ (ข้อมูลปี 2566) เนื่องจากอับปางด้วยอุบัติเหตุ อนาคตของเรือลำนี้จึงยังไม่แน่นอนว่าเป็นหมายตกปลา หมายดำน้ำ หรือต้องเก็บกู้ขึ้นมากันแน่ เลยไม่แน่ใจว่าเรือลำนี้จะมานอนอยู่ที่นี่ชั่วคราว หรือจะมาอยู่ที่นี่แบบค้างคืนตลอดไป หากถูกปล่อยให้เป็นซากที่ถูกทอดทิ้ง ก็คงจะได้มาดำดูเรือที่นี่กันบ่อยๆ


เนื่องจากกรมเจ้าท่ามีประกาศให้มีการนำเรือลำนี้ขึ้นมาจากพื้นทะเลอีกด้วย หากมีหน่วยงานทางทะเลอื่นๆเช่น ศรชล. หรือ ทช. เข้ามามีส่วนร่วมให้เรือลำนี้เป็นบ้านปลาต่อไป ก็คงต้องศึกษาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมกันต่อไป เนื่องจากเป็นไปได้ว่าในเรือยังมีน้ำมันตกค้างรอวันรั่วไหล อย่าลืมมารยาทในการดำน้ำเรือจมด้วยนะ เช่น การไม่เก็บกู้สิ่งของที่อยู่ในเรือจมเป็นต้น (การเก็บกู้สิ่งของจากเรือที่มีกรรมสิทธิ์อาจโดนข้อหาลักขโมยได้) หรือถ้าจะเข้าเรือจม ก็ต้องมีทักษะที่มากพอ หรือเรียนรู้เพิ่มเติมเช่นหลักสูตร SSI Advanced Wreck Diving หรือสูงกว่านั้น


ถ้าอยากไปดูปลาสวยๆ กับเรือลำใหม่ อาจจะต้องรีบมาดูหน่อยนะครับ


ไว้ไปด้วยกันใหม่นะครับ แล้วถ้ามีโอกาสใครอยากให้ครูเบิ้ม Blue Culture Diving พาไปก็ทักมาหาได้เลย

ดู 512 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page