top of page

เทคนิคยืดอายุอุปกรณ์ดำน้ำ ใช้ได้นานก็ประหยัดตัง

เทคนิคยืดอายุอุปกรณ์ดำน้ำ ใช้ได้นานก็ประหยัดตัง

Equipment

หลังจากการดำน้ำทุกทริป การทำความสะอาด และจัดเก็บอุปกรณ์ดำน้ำ เป็นเรื่องสำคัญ อุปกรณ์ดำน้ำมีอายุการใช้งานของตัวมันเอง ซึ่งนักดำน้ำสามารถช่วยดูแลให้อุปกรณ์ดำน้ำนั้นอยู่ในสภาพดี สวยงาม และพร้อมใช้งานอยู่เสมอ เราจึงอยากนำเสนอเทคนิคที่ช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ดำน้ำของเรา ไปดูกันได้เลย


หน้ากาก, สน็อกเกิล, DSMBs, และฟินส์

การล้างฟินส์ หน้ากาก และสน็อกเกิลนั้น ทำได้อย่างง่ายดาย โดยเพียงการล้างน้ำจืด และตากในร่มให้แห้งก่อนการเก็บเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราเท่านั้น แต่สำหรับหน้ากากที่เป็นซิลิโคนใสนั้น อาจจะต้องทำใจไว้บ้าง เนื่องจากซิลิโคนใส เมื่อผ่านอายุการใช้งานไปซักพักหนึ่ง ก็จะมีสีเหลืองหม่นดูไม่น่ามองอีกต่อไป ดังนั้นจึงต้องเก็บให้พ้นแสงแดด เพื่อให้ซิลิโคนคงความใสได้นานที่สุด

ในขณะใช้งาน ฟินส์มักจะเป็นสิ่งที่โดนนำไปตากแดดไว้ท้ายเรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไปดำน้ำกับเรือ liveaboard ซึ่งแดดที่ร้อนนั้น สามารถทำให้โพลีเมอร์ที่เป็นเนื้อฟินนั้นเสียรูปได้ง่าย หรือยางถ้าโดนแดดอายุการใช้งานก็จะสั้นลงมากๆ ดังนั้นถ้าเป็นอุปกรณ์ของตัวเอง ให้เก็บไว้ที่ชุดตัวเองในร่มเสมอ จะยืดอายุอุปกรณ์ดำน้ำได้อย่างยาวนาน และควรเขียนชื่อติดไว้กันหายและกันสลับกับนักดำน้ำท่านอื่น


ไฟฉาย, เข็มทิศ, ไดฟ์คอมพิวเตอร์

การล้างอุปกรณ์ที่ใช้แบตเตอรี่นั้น ควรล้างน้ำจืด และเช็ด หรือสะเด็ดน้ำให้แห้งก่อนเก็บ ไม่ควรใช้ลมแรงเป่าไดฟ์คอมพิวเตอร์เพื่อไม่ให้เซ็นเซอร์ต่างๆเสียหายได้ และควรเขียนชื่อบนไฟฉาย และเข็มทิศติดไว้กันหายและสลับกับนักดำน้ำท่านอื่น


ชุดเวทสุท บูท และถุงมือ

ไม่ว่าจะเป็นชุดผ้านีโอพรีน หรือผ้าโพลีเอสเตอร์ หรือผ้าฟลีซใดๆก็ตามแต่นั้น แพ้"คลอรีน"ทั้งสิ้น ถ้าหากคุณไม่ได้ดำน้ำในแหล่งน้ำจืดอย่างเดียวแล้วนั้น "คลอรีน"จะทำให้เนื้อผ้าเสื่อมสภาพลง ผ้าจะค่อยๆบางลง และเนื้อผ้าจะสูญเสียความยืดหยุ่นอีกด้วย เพราะนีโอพรีนนั้นเป็นยางสังเคราะห์ชนิดหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติของยาง และพัฒนาออกแบบให้มีความทนทานต่อการฉีกขาด ทนน้ำมัน และสารเคมีมากขึ้นกว่าจากยางพาราธรรมชาติ แต่โครงสร้างทางเคมีของเค้าก็ยังคล้ายยางธรรมชาติอยู่ดี การดูแลที่ถูกต้องจึงควรล้างน้ำเปล่าหลังจากการใช้งานให้เร็วที่สุด หรือทันที เพื่อล้างคราบสกปรก เกลือจากน้ำทะเล คลอรีนในสะว่ายน้ำ เพื่อล้างสารเคมีออกไป ใช้วิธีจุ่มแช่น้ำ และไม่ควรขยี้มือหรือบิดผ้าหรือใช้แปรงขัด ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำยาในการทำความสะอาด ก็ควรเลือกน้ำยาที่ใช้ทำความสะอาดที่เป็นน้ำยาเฉพาะสำหรับชุดนีโอพรีน หรือสามารถใช้น้ำยาซักผ้าสำหรับเด็กอ่อนก็ทดแทนได้ และใช้แปรงขนนุ่มปัดที่รอยเปื้อน ไม่ใช้เครื่องซักผ้า เพื่อถนอมเนื้อผ้า ห้ามใช้ทินเนอร์ น้ำมันสน หรือน้ำมันสนในการเช็ดรอยเปื้อน เพราะสารเหล่านี้เป็นอันตรายต่อยางกลิ่นจะติดชุดไปตลอด ส่วนการตากชุดนั้น ให้ตากชุดในร่ม เพราะรังสี UV จะทำใช้ชุดเสื่อมได้เร็วมาก แต่ไม่ควรตากในที่อับ เนื่องจากป้องกันกลิ่นอับและเชื้อรา และใช้ไม้แขวนผ้าสำหรับชุดเวทสูท หรือชุดสูท ที่ไม่ทำให้ผ้านั้นมีรอยหรือย้วยเมื่อตากไว้นานๆได้


และที่สำคัญคือหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช่น เดตตอล ในการแช่หรือล้างชุด เนื่องจากสารเคมีจะทำความเสียหายกับเนื้อยางได้ ดังนั้นการที่เรือ Liveaboard มีบริการล้างชุดฆ่าเชื้อด้วยเดตตอลนั้น เป็นเรื่องเข้าใจได้ในเงื่อนไขความสะอาดและกลิ่นไม่พึงประสงค์หลังดำน้ำ แต่ทางที่ดี นักดำน้ำที่หวงของควรหลีกเลี่ยง และแยกมาล้างตากเองจะดีที่สุด เนื่องจากจะทำให้สีผ้าซีด และเนื้อผ้าแข็งเร็วขึ้นอย่างชัดเจน


เร็กกูเลเตอร์

เร็กกูเลเตอร์ เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ราคาสูงของชุดดำน้ำ และหากล้างจัดเก็บไม่ดี จะก่อให้เกิดปัญหาระยะยาวจากการกัดกร่อนของน้ำทะเล หรือสารเคมีได้ ซึ่งการระวังเร็กกูเลเตอร์นั้น เริ่มต้นได้ตั้งแต่กระเป๋าเก็บเร็กกูเลเตอร์ เพื่อป้องกันการกระแทกระหว่างการเดินทาง โดยลงทุนกระเป๋าใบละไม่กี่ร้อย หรือเลือกซื้อเร็กกูเลเตอร์ที่มีกระเป๋าแถมให้ เช่น TECLINE ที่เป็น set sport หรือ technical set ก็ได้ จะมีกระเป๋าแถมให้ทุกรุ่น เพื่อป้องกันการลงทุนอันคุ้มค่าของเรา และหลังจบการดำน้ำทุกไดฟ์ ระหว่างการดำน้ำนั้น จะมีการถอด regulator ออกจากวาล์วถัง และหากไม่ระวังไม่ได้ปิดฝากันน้ำหรือกันฝุ่นไว้ อาจทำให้น้ำหรือความชื้นเข้าไปได้มาก หรืออาจถูกละอองฝนได้ ซึ่งนักดำน้ำควรปิดถังและถอด regulator ออกจากวาล์วด้วยตัวเองเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ลืมปิด dust cap ได้ แม้ regulator บางตัวจะมีระบบ ACD ป้องกันน้ำเข้า แต่ก็ระวังไว้ดีที่สุด


การล้าง regulator ที่ง่ายที่สุด คือการล้างเร็กกูเลเตอร์ ในขณะที่ยังประกอบกับถังดำน้ำ และยังเปิดถังให้มีแรงดันอยู่ เพราะจะแน่ใจได้ว่าน้ำจะไม่เข้าไปในระบบ first stage และ second stage และล้างโดยใช้สายยางฉีดน้ำ จะสะอาดที่สุด และถ้าหากว่าชุดเร็กกูเลเตอร์ใช้ Hose Protector ต้องให้แน่ใจว่าล้างส่วนที่เป็นโลหะด้านในปลอกยางด้วย รวมไปถึงรูเปิดต่างๆที่น้ำทะเลจะเข้าได้ เอาสายฉีดยางอัดน้ำล้างเข้าไป


หากต้องถอด regulator ออกจากถังมาล้าง หรือล้างเก็บที่บ้านหรือที่พัก ให้ล้างโดยใช้สายยาง หรือฝักบัว หรือแช่น้ำจืดสะอาดเป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาที เพื่อให้ส่วนที่มีน้ำเค็มตกค้างในเร็กกูเลเตอร์นั้นได้ถูกชะล้างออกมา ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์น้ำยาที่ล้างน้ำเค็มจากเร็กกูเลเตอร์โดยเฉพาะได้ โดยไม่ควรแช่นานข้ามคืนเพราะเร็กกูเลเตอร์จะมีเมือกเกาะได้ โดยระหว่างล้าง หรือแช่น้ำนั้นไม่ควรกด purge button ระหว่างการล้างเพื่อป้องกันน้ำย้อนเข้าระบบผ่าน second stage ด้วย และการแขวนผึ่งให้แห้งนั้น จะต้องให้แน่ใจว่าไม่มีน้ำขังใน second stage โดยการคว่ำน้ำออกให้หมดก่อนผึ่งให้แห้ง

เทคนิคการล้างเร็กกูเลเตอร์ให้สะอาดมากที่สุด ที่เราเคยเจอมา คือการล้างด้วยฝักบัวน้ำอุ่น ที่จะทำละลายคราบเกลือได้ง่ายกว่าน้ำอุณหภูมิห้อง แต่ควรเป็นอุณหภูมิที่ไม่ร้อนจนเกินไป เช่นไม่เกินน้ำอุ่นปกติที่เราอาบน้ำ ก็ถือว่าใช้ได้ และนำน้ำเปล่าผสมน้ำยาบ้วนปาก 1:1 และนำ second stage ไปแช่ไว้ซัก 3-5 นาทีเพื่อให้แน่ใจว่าคราบน้ำลายหรือแบคทีเรียอื่นๆจะหมดไปก็ได้ โดยขอให้เป็นสูตร non-alcohol เนื่องจากแอลกอฮอล์จะไปกัดยางได้


สำหรับ Second Stage ที่มี adjustable breathing resistance นั้น เมื่อจัดเก็บควรจะให้ Adjustable Knob อยู่ในตำแหน่งที่หายใจได้เบาที่สุด (ทวนเข็มนาฬิกาจนสุด) เพื่อยืดอายุการทำงานของลูกยางบดวาล์วให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพตลอดอายุการใช้งาน

การจัดเก็บ หากแห้งแล้ว จะเก็บในกระเป๋าก็ได้แต่ระวังเรื่องของสายลมอย่าให้หักงอคากระเป๋า จะทำให้สายเสียหายได้ แต่ถ้าแขวน ก็ต้องระวังข้อต่อต่างๆ ไม่ให้หักงอมากจนเกินไปด้วยตอนแขวนด้วย เนื่องจากน้ำหนักของ first stage, second stage, หรือ instrument console จะทำให้ข้อต่อหัวยางเกิดการเสียรูปได้เมื่อมีน้ำหนักถ่วงไว้นานๆ ควรจะม้วนหลวมๆเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น พ้นจากแสงแดง


และเพื่อป้องกันการสลับกันบนเรือ แนะนำให้จด serial number หรือลงชื่อตนเอง บนของอุปกรณ์ทั้งหมดไว้ เพื่ออ้างอิงเมื่อเกิดกรณีสลับของกัน


BCD

BCD นั้นเริ่มจากการล้างน้ำจืดด้านนอก และถ้ามีกระเป๋าตะกั่ว ให้ถอดไปล้างแยกต่างหาก และทำการนำน้ำที่อยู่ใน BCD ออกให้หมด แล้วเติมน้ำจืดสะอาดกลับลงไปในถุงลมผ่านการเปิด OPV หรือผ่านสายเติมลม หลังจากนั้นให้เป่าลมเข้าชุด เพื่อให้เขย่าน้ำด้านในชะล้างคราบน้ำเค็มออกมาได้มาก ล้างสองถึงสามครั้ง ก่อนที่จะเป่าลมเข้าชุดอีกครั้งก่อนแขวนผึ่งให้แห้งในที่ร่ม และควรผึ่งกลับหัวให้สายเติมลมชี้ลงด้านล่างเพื่อที่จะปล่อยน้ำทิ้งได้ง่ายก่อนเก็บครั้งสุดท้าย


สำหรับชุด BCD ที่มีสีอ่อน (แดง, ส้ม, ฟ้า, ชมพู, ฯลฯ) นั้น ระหว่างพักน้ำ ไม่ควรวางไว้ในที่แดดจัด ถ้าหากตำแหน่งวางถังบนเรืออยู่นอกชายคา ควรหาผ้าทึบคุลมไว้เพื่อป้องกันรังสี UV เลียสีซีดได้ และ BCD ที่มีสีขาว ต้องมีการดูแลรักษาให้ดีเป็นพิเศษ เพราะรอยเปื้อนต่างๆที่มาจากการดำน้ำ ทำความสะอาดออกได้ยาก


และการล้างชุด BCD ด้วยเดตตอลนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจากสีผ้าจะซีดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน


ถ้าต้องใช้อุปกรณ์ตัวเองลงสระว่ายน้ำบ่อยๆ โดยเฉพาะ divemaster และ instructor ที่ใช้เวทสูทกับสระว่ายน้ำบ่อยๆ แนะนำให้หาเวทสูทราคาถูกไปใช้กับสระว่ายน้ำคลอรีนแยกออกมาอีกตัว หรือให้สังเกตุสภาพอุปกรณ์เช่าของสระได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเวทสูท หรือ BCD หรือ Regulator เพราะคลอรีนของสระว่ายน้ำจะทำให้อุปกรณ์เสื่อมได้รวดเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นชุดเวทสูทที่ขาดรุ่งริ่ง หรือเปลี่ยนสี หรือ BCD ที่สภาพไม่สมบูรณ์ ผ้าขาดหรือ velcro ติดไม่ได้ หรือ regulator ที่ส่วนโลหะชุบมันวาวนั้นลอกออกเหลือแต่คราบทองเหลืองด้านๆ จะพอเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าสระว่ายน้ำนั้นคลอรีนแรงหรือไม่


Galvanic Corrosion ของชุด BCD

สำหรับผู้ที่ใช้ BP/W ที่มีโลหะสองประเภทอยู่ชิดติดกัน เช่น BP อลูมิเนียม เจอกับ Single Tank Adaptor ที่ทำมาจากเหล็กสแตนเลส หรือตาไก่ BCD, ตาไก่ประกอบ Weight Pocket ซึ่งการแตะกันของโลหะต่างประเภท และสัมผัสน้ำเค็ม จะทำให้เกิดการกัดกร่อนเนื่องจากความต่างศักย์ (Galvanic Corrosion) ได้ เนื่องจากโลหะแต่ละชนิดจะมีค่าศักย์เฉพาะตัว ดังนั้นถ้าหากมีโลหะ 2 ชนิด สัมผัสกันอยู่และมี สารละลายอิเลคโตรไลท์และส่วนโลหะเชื่อมต่อที่นำไฟฟ้า หรือต่อกันอย่างครบวงจรไฟฟ้าเคมี เมื่อเวลาผ่านไป โลหะที่ศักย์ต่ำกว่าจะเกิดการกัดกร่อน(อาโนด) ขณะที่โลหะที่มีศักย์สูงกว่าจะไม่กัดกร่อน(คาโธด) ความต่างศักย์ของโลหะทั้งสอง ยิ่งมากเท่าไรความรุนแรงก็มากขึ้นเท่านั้นดังนั้น การประกอบชุด BP/W จึงควรมีฉนวนป้องกัน เช่น แหวนอีแปะพลาสติก หรือแปะเทปเลคซีน เพื่อป้องกันการข้ามประจุของกระแสไฟฟ้า ทำให้ galvanic corrosion ลดลงได้ หรือเมื่อใช้เสร็จแล้วควรทำให้แห้งโดยเร็ว โดยการใช้ผ้าแห้งเช็ด ก็จะช่วยให้เกิดสนิมขึ้นได้ช้าลงได้เช่นกัน หรือถ้าไม่ได้ใช้นานๆ หรือขยันประกอบ สามารถถอดประกอบชุดออกจากกันหลังใช้งานได้ และนำมาประกอบใหม่ก่อนใช้งาน


 

สรุป

สุดท้ายนี้ การดูแลอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดี จะทำให้การดำน้ำครั้งต่อไปมีความเสี่ยงน้อยลง โดยการดูแลอุปกรณ์ระหว่างดำน้ำ สามารถทำได้ด้วยตนเอง และอย่าพึ่งแต่พนักงานของร้านดำน้ำ หรือเรือดำน้ำ ถึงแม้มันเป็นความสะดวกสบาย แต่การดูแลอุปกรณ์ด้วยตัวเองนั้นดีที่สุด ถ้ารู้สึกว่าล้างอุปกรณ์ที่เรือหรือรีสอร์ทไม่สะอาด ควรกลับบ้านมาล้างอุปกรณ์อีกครั้งเพื่อความแน่ใจ แต่หากทริปต่อไปยังไม่แน่ใจ สามารถเข้ามาที่ Blue Culture Diving เพื่อตรวจสภาพอุปกรณ์ดำน้ำก่อนการไปทริปถัดไปโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้เลย

bottom of page