top of page

แนวทางการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ดำน้ำ แบบไหนคุ้ม?

แนวทางการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ดำน้ำ แบบไหนคุ้ม?

Equipment

เราควรนำเร็กกูเลเตอร์ไปเข้าศูนย์บริการเมื่อไร?

เรามักจะแนะนำให้คุณนำเร็กกูเลเตอร์มาตรวจสภาพเมื่อถึงรอบการซ่อมบำรุงตามที่ผู้ผลิตกำหนด หรือคุณไม่แน่ใจว่ามันถูกซ่อมบำรุงครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่, ไม่ว่าจะเป็นส่งซ่อมทุกปี, ไม่ได้ลงน้ำมาสองปี, หรือทำมันทุกปี คุณจะได้มั่นใจว่าปีนั้นคุณจะลงน้ำเมื่อไหร่ก็ได้


ทั้งหมดนี้คือค่าใช้จ่ายที่นักดำน้ำมองภาพไม่ชัดเจนเมื่อตัดสินใจซื้ออุปกรณ์ดำน้ำ ดังนั้นเราจึงอยากจะมาแบ่งปันประสบการณ์ของเราให้คุณเห็นภาพมากขึ้น ว่าเมื่อคุณต้องลงดำน้ำแล้วนั้น การซ่อมบำรุงค่าใช้จ่ายและแนวทางมีอย่างไรบ้าง?


ให้นึกภาพเราขับรถคันหนึ่งอยู่ เราจะเปลี่ยนถ่ายของเหลวตามที่ผู้ผลิตกำหนด (เช่นการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ 10,000 กิโลเมตร) หรือเปลี่ยนยางเมื่อการสึกหรอถึงจุดที่กำหนด แต่หลายๆครั้งเราจะโทรให้ช่างมาเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์เมื่อเราสตาร์ทรถไม่ติดแล้ว อุปกรณ์ดำน้ำก็เช่นกัน การทำ Preventive Maintenance หรือก่อนที่มันจะพัง หรือตามที่ผู้ผลิตกำหนดนั้น หรือการทำ Reactive Maintenance หรือเปลี่ยนเมื่อมันพัง หรือหมดอายุการใช้งาน ก็จะสะท้อนกับความปลอดภัยของคุณใต้น้ำ


ชุดซ่อม (Service Kit) ที่ผู้ผลิตรวมชุดไว้ให้เปลี่ยนเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนนั้นมีราคาที่ค่อนข้างสูง และชิ้นส่วนหลายชิ้นจะเป็นชุดที่ใช้เปลี่ยนในระบบวาล์วควบคุมแรงดันของ regulator ซึ่งเมื่อประกอบเข้าไปแล้ว อายุการใช้งานก็จะเริ่มนับหนึ่งในวันที่เปลี่ยนชุดซ่อมเข้าไปนั่นเอง แม้จะใช้หรือไม่ได้ใช้ regulator ไปดำน้ำ ชุดวาล์วที่ใส่เข้าไปก็จะเริ่มมีการเสื่อมตามกาลเวลาของมัน ซึ่งมักจะเริ่มเสื่อมจนรั่วได้นั้น มักจะพบได้มากหลังปีแรกนั่นเอง จึงมักเป็นที่แนะนำกันว่า พังไม่พัง ก็เปลี่ยนไปเถอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ในสาย High Pressure และ First Stage Regulator ที่เมื่อเกิดการเสียหายคือการสูญเสียอากาศอย่างรวดเร็วใต้น้ำ และเรามันจะมองไม่เห็นความเสื่อมของสิ่งเหล่านี้ เพราะมันคือส่วนประกอบด้านในของอุปกรณ์ดำน้ำที่เรามองไม่เห็นจากภายนอกนั่นเอง


แต่กับอุปกรณ์ที่เราตรวจสภาพแล้วพบว่ามันพัง ก็ค่อยเปลี่ยน เช่น สายยางต่างๆ ถ้าเราพบการแตกลายงา หรือบวมเมื่อมีแรงดัน เราก็ค่อยเปลี่ยนมันก่อนการไปดำน้ำทริปถัดไปก็ได้ เพราะเมื่อเปลี่ยนทันทีก่อนการไปดำน้ำ ก็จะแน่ใจได้ว่าอายุการใช้งานของสิ่งของเหล่านั้นจะอยู่กับเราได้นานที่สุด


Manufacturer's Recommended Service Interval: รอบการซ่อมบำรุงตามที่ผู้ผลิตแนะนำ

นักดำน้ำส่วนใหญ่มองว่า Regulator เป็นอุปกรณ์พยุงชีพ (Life Support) ที่ใช้ใต้น้ำ การซ่อมบำรุงตามที่ผู้ผลิตกำหนดจึงเป็นวิธีที่แน่ใจได้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของผู้ผลิต เพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุด จึงต้องนำอุปกรณ์มาถอดประกอบ ล้างด้วยเครื่อง Ultrasonic ที่สามารถเข้าได้ทุกซอกทุกมุม เปลี่ยนชุดซ่อม และประกอบกลับพร้อมตั้งแรงดันตามมาตรฐานผู้ผลิต


แต่กระนั้นเอง ก็ยังมีนักดำน้ำบางส่วนมองว่าการซ่อมแบบนี้ไม่คุ้มค่า บางร้านบอกให้เปลี่ยนทุกปี เราจึงอยากแนะนำทุกคนว่า service interval ของแต่ละแบรนด์นั้น มีระยะเวลาไม่เท่ากัน เมื่อก่อนวัสดุที่ใช้ในการซีลจะทำมาจากยาง และซีลยางจะเสียคุณสมบัติความยืดหยุ่น หรือเสียรูปไปเมื่อหมดอายุการใช้งาน ปัจจุบันส่วนประกอบในเนื้อยางดีขึ้น หรือใช้วัสดุสังเคราะห์อื่นแทน หรือมีนวัตกรรม ซึ่งทำให้ความทนทานของชุดอะไหล่มีมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตมีระยะเวลาแตกต่างออกไป เช่น


SCUBAPRO

2 Years or 100 Hours

APEKS

2 Years or 100 Hours

ATOMIC AQUATICS

3 Years or 200 Hours

CRESSI

At least once a year

MARES

1 Year or 100 Hours

TECLINE

1 Years or 100 Hours

DIVE RITE

2 Years or 100 Hours

แต่ service interval ของผู้ผลิตนั้น ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องเป็นไปตามนั้น ซึ่งถ้าอุปกรณ์มีการล้างจัดเก็บที่ไม่ดี จะทำให้ต้องเข้าซ่อมบำรุงก่อนกำหนด นักดำน้ำจึงควรหมั่นตรวจสภาพอุปกรณ์ของตัวเองก่อนดำน้ำอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ก่อนเดินทางเสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์เราจะทำงานได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย และถ้าต้องซ่อมบำรุง ก็จะมีเวลาเพียงพอสำหรับการให้ช่างเทคนิคดูแลอุปกรณ์ดำน้ำของคุณ


ในมุมมองของเรา เราเชื่อว่าเวลา service interval ที่ดีที่สุดคือทุกๆ 1 ปี หรือ 100 ไดฟ์ เพราะว่าถ้าหากว่าน้ำเข้าเร็กกูเลเตอร์ในช่วง 12 เดือนแรก โอกาสที่จะซ่อมแซมฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพปกติจะทำได้เกือบ 100% แต่ถ้านานกว่านั้น จะเริ่มมีคราบเกาะที่เมื่อล้างออกแล้วจะพบการกัดกร่อนทะลุชั้นผิวเคลือบโลหะไปแล้ว และอาจมีร่องรอยความเสียหายหลังซ่อมแซมได้


โดยก่อนการซ่อมแซมสามารถตรวจสภาพเบื้องต้น และประเมินการใช้ค่าใช้จ่ายก่อนซ่อมบำรุงได้


การเปลี่ยนเฉพาะชิ้นส่วน

การล้าง regulator ไม่สะอาด หรือน้ำเข้าเร็กกูเลเตอร์ อาจก่อให้เกิดคราบเกลือฝังลงไปในโลหะซึ่งเพิ่มการกัดกร่อนและอุปกรณ์เสียหาย การเปิดล้างอุปกรณ์ก็จะทำได้ยากมากขึ้น และอาจจะเกิดความเสียหายเพิ่มเติมตอนเปิดได้ (ถึงแม้ช่างจะระวังแค่ไหนก็ตาม) และรวมไปถึงความสกปรกที่หมักหมมอยู่ด้านใน เนื่องจากไม่มีการระบายอากาศเข้า-ออกในระบบเมื่อไม่ได้ใช้งาน ดังนั้นเมื่อมีน้ำเข้า regulator จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดออกมาล้างให้สะอาด เพื่อป้องกันความเสียหายต่อเร็กกูเลเตอร์ การเข้าเซอร์วิสกรณีนี้ จึงเป็นการเซอร์วิสที่สามารถเปิดล้างแล้วประกอบอุปกรณ์กลับโดยใช้อะไหล่เดิมได้ หรือเปลี่ยนอะไหล่ที่ไม่สามารถใช้งานต่อได้ หากช่างประเมินแล้วยังไม่หมดอายุการใช้งาน หรือความเสียหายไม่มาก ซึ่งทำให้ความมั่นใจในการใช้งานอุปกรณ์มีสูงมากพอ


การถอด-ล้าง-ประกอบ

หากไม่มีเหตุผลอันสมควร ก็ไม่มีความจำเป็นต้องถอดประกอบ regulator ออกมาล้างบ่อยๆ การที่ต้องนำ Regulator ไปโดนสารเคมีประเภทกรดในอ่าง Ultrasonic บ่อยๆ (Ultrasonic Solution ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย อาจมีส่วนประกอบของกรด Acetic Acid, Hydroxyl, หรือ Propane Tricarboxylic Acid ที่ทำหน้าที่ล้างสนิม และคราบเกลือออกมาจากผิวโลหะ) มีส่วนทำให้ผิวที่ชุบไว้มีโอกาสหลุดร่อนบ่อยกว่าเวลาอันควร โดยที่เหตุผลว่าควร หรือไม่ควรถอดล้าง จะขึ้นอยู่กับการใช้งาน, การดูแล, และการจัดเก็บของนักดำน้ำแตกต่างกันออกไป แล้วแต่จะโปรดแบบไหน ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในการเปิดโดยช่างผู้ชำนาญงานในแต่ละครั้ง


อุปกรณ์อื่นๆที่อาจจะเสียหายร่วม

ในชุดซ่อมอุปกรณ์นั้น จะมีให้เฉพาะ First Stage และ Second Stage เป็นส่วนมาก แต่อาจจะมีอุปกรณ์อื่นที่อาจจะมีความเสียหายร่วม หรือส่วนที่ต้องเปลี่ยนเฉพาะจุด เช่น สายยาง เกจ หรือบ่าวาล์วต่างๆที่อาจจะสึกหรอ หรือถูกกรัดกร่อนตามเวลา ทำต้องมีการเปลี่ยนเฉพาะจุด โดยบางจุดนั้น ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการถอดประกอบ Regulator ออกมาเป็นชิ้นๆ การซ่อมแซมจุดนั้นจึงมักจะสามารถซ่อมแยกได้


ค่าใช้จ่าย

การบำรุงรักษาตามมาตรฐาน จะอยู่ที่ช่วงราคาประมาณ 3,500 - 5,500 บาท/ครั้ง แล้วแต่รุ่น และค่าชุดซ่อมของผู้ผลิตยี่ห้อนั้นๆ แต่จะให้ความมั่นใจสูงสุด และโอกาสนำกลับเข้ามาซ่อมใหม่ หรือเกิดการเสียหายระหว่างการใช้งานนั้นน้อยมาก ซึ่งถ้านักดำน้ำได้รับการเสนอให้เปลี่ยนเฉพาะส่วนที่เสียหาย โอกาสที่จะต้องกลับมาเปิดซ้ำนั้นมีมาก หากค่าใช้จ่ายการเปิดอยู่ที่ 1,500 - 3,000 บาท/ครั้ง แล้วแต่ว่าอะไรเสียหายไปบ้าง แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์อื่นๆเช่น เกจ สายยาง ส่วนประกอบเล็กๆน้อยๆนั้น อาจจะมีแค่ค่าสินค้าอย่างเดียว ไม่มีค่าใช้จ่ายเลยก็เป็นได้


 

สรุป


เมื่อผู้ผลิตระบุเวลาซ่อม เพื่อให้มีการเปลี่ยนชุดอุปกรณ์พร้อมๆกันได้ ส่วนใหญ่การซ่อมแซมของเหล่านี้จะสามารถทำได้พร้อมๆกัน และไม่ต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่ายในการส่งของไปมา รวมไปถึงค่าใช้จ่ายช่างที่อาจจะซ้ำซ้อนในการซ่อมอันนั้นที อันนี้ที และเสียอารมณ์ในการดำน้ำครั้งนั้น รวมถึงการที่รู้สึกว่าอุปกรณ์ดำน้ำนั้นจุกจิก เพราะการที่เข้า service ใหญ่ทีเดียว กับการซ่อมเล็กๆหลายๆทีนั้น อย่างหลังย่อมรู้สึกว่าเสียเวลามากกว่าแน่นอน


แน่นอนนักดำน้ำสามารถมีอุปกรณ์ช่วยเหลือเบื้องต้นได้ เช่นประแจเลื่อนอันเล็กๆสองตัว อย่างน้อยเวลาเกจรั่ว หรือสายขาด สามารถหาซื้ออะไหล่เปลี่ยนได้ และเปลี่ยนเองโดยไม่ต้องง้อช่างมากนักก็ได้


bottom of page