Select Site Language:
สันทัดสมุทร 4 เรือจมของดีประจำจังหวัดชุมพร
Dive Site
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชุมพร ได้รับแจ้งเหตุเรืออับปาง บริเวณอ่าวไทย จ.ชุมพร จากการตรวจสอบพว่า เรือคันเกิดเหตุ ชื่อเรือสันทัดสมุทร 4 ประเภทเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต หมายเลขทะเบียนเรือ 600003096 เจ้าของคือ บจก.สันทัดและบุตร
ถือเป็นเรือลำที่ 2 ของ บจก.สันทัดและบุตร ที่เกิดอุบัติเหตุทางทะเล ต่อจากเรือสัดทัดสมุทร 3 ในปี 2563 และตามด้วยเรือสันทัดสมุทร 2 ในวันที่ 18 ธันวาคม 2565 (วันเดียวกันกับวันที่ รล. สุโขทัย อับปางที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นั่นเอง)
ปัจจุบันเรือสันทัดสมุทร 4 นอนจมอยู่ที่ทะเลจังหวัดชุมพร นอกเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที ถือเป็นเรือจมใหม่ที่ยังมีความสะอาดอยู่ และเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของหมู่ปลามากมาย สายบ้าเรือจมอย่าง Blue Culture Diving มีหรอจะไม่อยากมาดูให้เห็นด้วยตาตัวเอง ทีมของเราเดินทางมาที่ท่าเรือแต่เช้า แล้วเดินทางออกไปดำน้ำที่เรือสันทัดสมุทร 4 แล้วก็พบความสวยงามของเรือจมลำนี้
เรือสันทัดสมุทร 4 จมในลักษณะตั้งตรงเหมือนเรือปกติ (Upright position) โดยตัวเรือมีความยาว 79 เมตร และ กว้าง 12 เมตร และจมอยู่ที่พื้นทะเลอยู่ที่ 37-40 เมตร โดยลักษณะเป็นพื้นเลน ในวันที่เราไปนั้นทัศนวิสัยใต้น้ำอยู่ในขั้นปานกลาง อีกนิดจะเป็นน้ำราดหน้าแล้ว โดยเป็นน้ำแบ่งชั้น คือ 0-25 เมตร พอมองเห็น 25 เมตรลงไปมองอะไรไม่เห็นแล้ว แต่เราก็เห็น superstructure ของเรือได้อย่างชัดเจน โดยโครงสร้างอาคารของเรือนับตั้งแต่ดาดฟ้าเรือมีทั้งหมด 4 ชั้น โดยมีสะพานเดินเรืออยู่ชั้นบนสุด และยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก
โดยเสากระโดงที่มีส่วนสูงมากงอลงในระดับความลึกเท่ากับหลังคาของสะพานเดินเรือแล้ว (น่าจะเป็นเรืองความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือ) โดยเราจะเริ่มดำน้ำที่ความลึกประมาณ 19-20 เมตร และสะพานเดินเรือก็จะเริ่มที่ความลึก 23 เมตร ความลึกระดับนี้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ก๊าซผสมแบบ Enriched Air Nitrox เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของนักดำน้ำที่ลงไปเยี่ยมชมด้านล่าง เนื่องจากถ้าใช้ Air NDL จะน้อยนิดกระจิดริดมาก ถือเป็นการลงทุนซื้อ Nitrox ที่คุ้มค่า และถ้ารู้ว่าใช้อากาศเปลืองหล่ะก็ twinset หรือ sidemount เถอะ ถ้าอากาศจะหมดไปขอแบ่งเพื่อนก็ได้ไม่ต้องเขิน
ดาดฟ้าเรือด้านหลังอยู่ที่ความลึก 28 เมตร โดยอุปกรณ์หลายอย่างยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ป้ายสติกเกอร์ยังอ่านได้หลายอย่างและเรือเริ่มมีหอยเกาะอยู่ทั่วบริเวณเรือ ด้านนอกมีปลาจำนวนมากอาศัยอยู่ที่บ้านใหม่แห่งนี้ เช่นปลาสากหางเหลือง ปลาหูช้าง ฝูงปลากระมง ปลาน้ำดอกไม้ ปลาเก๋า ปลากระพงแดง และปลาอีโต้มอญ (dolphin fish) อีกด้วย
ทริปนี้เราก็ได้ไปกับเพื่อนๆน่ารักหลายคน ต้องขอบคุณ
ครูก๊อต Chumphon Scuba ที่พาเราไปที่นี้ด้วยเรือที่กว้างขวางและแสนสบาย
ครูท้อป Travel Butler สายฮา
ครูโอป ดำน้ำยังไงไม่ให้โสด สำหรับรูปสวยๆ (Credit รูปภาพครูโอป)
ครูน้ำหวานกับรูปของ Blue Culture Diving
ทีม PinCrew สายชิว
อย่างไรก็ดี เรือลำนี้ก็ยังมีผู้ถือกรรมสิทธิ์เรืออยู่ (ข้อมูลปี 2566) เนื่องจากอับปางด้วยอุบัติเหตุ อนาคตของเรือลำนี้จึงยังไม่แน่นอนว่าเป็นหมายตกปลา หมายดำน้ำ หรือต้องเก็บกู้ขึ้นมากันแน่ เลยไม่แน่ใจว่าเรือลำนี้จะมานอนอยู่ที่นี่ชั่วคราว หรือจะมาอยู่ที่นี่แบบค้างคืนตลอดไป หากถูกปล่อยให้เป็นซากที่ถูกทอดทิ้ง ก็คงจะได้มาดำดูเรือที่นี่กันบ่อยๆ
เนื่องจากกรมเจ้าท่ามีประกาศให้มีการนำเรือลำนี้ขึ้นมาจากพื้นทะเลอีกด้วย หากมีหน่วยงานทางทะเลอื่นๆเช่น ศรชล. หรือ ทช. เข้ามามีส่วนร่วมให้เรือลำนี้เป็นบ้านปลาต่อไป ก็คงต้องศึกษาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมกันต่อไป เนื่องจากเป็นไปได้ว่าในเรือยังมีน้ำมันตกค้างรอวันรั่วไหลอย่าลืมมารยาทในการดำน้ำเรือจมด้วยนะ เช่น การไม่เก็บกู้สิ่งของที่อยู่ในเรือจมเป็นต้น (การเก็บกู้สิ่งของจากเรือที่มีกรรมสิทธิ์อาจโดนข้อหาลักขโมยได้) หรือถ้าจะเข้าเรือจม ก็ต้องมีทักษะที่มากพอ หรือเรียนรู้เพิ่มเติมเช่นหลักสูตร SSI Advanced Wreck Diving หรือสูงกว่านั้น
ถ้าอยากไปดูปลาสวยๆ กับเรือลำใหม่ อาจจะต้องรีบมาดูหน่อยนะครับ
ไว้ไปด้วยกันใหม่นะครับ แล้วถ้ามีโอกาสใครอยากให้ครูเบิ้ม Blue Culture Diving พาไปก็ทักมาหาได้เลย