top of page
ค้นหา

Silicone Grease ที่ดี คือ Silicone Grease ที่มี?

อัปเดตเมื่อ 5 ธ.ค. 2566

อุปกรณ์ดำน้ำหลายจุดจะมีโอริงเพื่อให้การประกอบกันแน่นสนิทและไม่สามารถมีอากาศรั่วไหลได้ และหลายๆครั้งจะต้องมีการใช้ Seal Lubricant ในการช่วยทั้งให้การซีลแน่นสนิท หรือลดการเสียดสีของโอริงได้ ซึ่งการซีลนั้นจะมีสองแบบคือแบบ Static Seal ที่เป็นการประกอบกันของชิ้นส่วนสองชิ้นที่ไม่เคลื่อนไหว และ Dynamic Seal ที่เป็นการประกอบกันของชิ้นส่วนสองชิ้นที่ขยับไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง หรือหลายทิศทางได้ ซึ่ง Silicone Grease นั้นจะใช้ได้กับ non-silicone seal เช่น โอริง NBR, FKM, VITON, หรือ EPDM เพราะไม่เกิดการทำปฏิกิริยากับเนื้อโอริง


ซึ่งเนื่องจากการใช้ Silicone Grease กับอุปกรณ์ช่วยหายใจของเรานั้น จะต้องใช้ Silicone Grease ที่เป็น Food Grade อย่างน้อยระดับ N1 ซึ่งใช้ในโรงงานผลิตอาหาร ซึ่งสามารถใช้กับอุปกรณ์เช่น Silicone Grease ของกล้อง, แบตเตอรี่ไดฟ์คอมพิวเตอร์, คอถังอากาศ, และเร็กกูเลเตอร์


ซึ่ง Silicone Grease แบบ Food Grade นั้นมีขายในร้านดำน้ำ หรือร้านวัสดุก่อสร้าง หรือร้านขายโอริงเป็นปกติ ซึ่งนักดำน้ำจะเลือกใช้แบบไหนก็ได้


แต่การจะใช้กับการ Service Regulator โดยเฉพาะ First Stage จะไม่มีผู้ผลิตอุปกรณ์ดำน้ำยี่ห้อไหนแนะนำเลย

เหตุผลก็เพราะการใช้ silicone grease กับถังอากาศ หรือ First Stage Regulator เป็นเพราะว่า

ทำงานกับก๊าซแรงดันสูง ซึ่งหนึ่งในก๊าซที่จะมีอยู่ในถัง

อากาศคือออกซิเจน และเมื่อแรงดันออกซิเจนสูง ก็จะเกิดการออกซิเดชั่นได้ง่าย ซึ่ง seal lubricant ที่ต้องใช้นั้นจะต้องเป็นแบบ Oxygen Compatible เท่านั้น ซึ่งราคาก็หลอดละหลายพันบาท ไม่ใช่หลอดละหลักร้อยที่สามารถเอามาใช้กันได้ เพราะถ้าคุณต้องใช้ Nitrox ในการดำน้ำแล้วใช้ Food Grade Silicone Grease ธรรมดา จะผิดมาตรฐานการเซอร์วิสของผู้ผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะแนะนำให้ใข้ Christo-lube MCG-111 หรือ MCG-129 เท่านั้น ซึ่งราคาก็ระยิบระยับเริ่มต้นกันหลอดละหลายพันบาทไทย


ซึ่งการใช้ Silicone Grease ธรรมดา อาจจะสามารถใช้ได้ในบางจุดเท่านั้น เช่น ส่วนที่เป็น Low-pressure เช่น Second Stage Regulator หรืออุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหายใจของเรา เช่นกล้องถ่ายรูปใต้น้ำ เป็นต้น

แต่ด้วยความที่ราคาของ Silicone Grease นั้นราคาหลอดละสามสี่ร้อยบาท เมื่อเทียบกับ Oxygen Compatible Grease ที่ต้องใช้กันตามงานโรงงาน หรือ โรงพยาบาลแล้วหละก็ ถือว่าน้อยมาก และเป็นเหตุให้ช่างคิดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงที่ถูกมาก เพราะว่าลดต้นทุนได้ดี แต่แลกมาด้วยงานซ่อมที่ไม่ได้ตามมาตรฐานตามที่สมควรจะได้ ซึ่งผลลัพธ์จะไปตกอยู่ที่ตัวผู้ใช้อุปกรณ์นั้นๆเอง จึงต้องเข้าใช้บริการกับร้านหรือช่างที่มีความเข้าใจของคุณสมบัติของสารที่ใช้ด้วย


หลายๆครั้ง จึงอาจเป็นเรื่องพอถกเถียงกันได้ว่า มีนักดำน้ำบางท่านดำน้ำด้วย Air ตลอดเวลา ก็สามารถใช้ Silicone Grease เกรดธรรมดาได้ ซึ่งทำให้ค่าซ่อมบำรุงนั้นมีราคาย่อมเยามากขึ้น แต่เมื่อนำไปใช้กับออกซิเจนแรงดันสูงแล้ว อาจจะทำให้เกิดการการติดไฟวาบ (spontaneous combustion) หรือ ออกซิเดชั่นของ silicone grease ซึ่งอาจนำพามาให้ซีลต่างๆเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควรได้


เมื่อเรามองเชิงวิทยาศาสตร์ โดยอ้างอิงถึง American Society for Testing and Materials (ASTM) ซึ่งเป็นซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทำหน้าที่กำหนดและจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับคุณภาพวัสดุ ซึ่งมาตรฐาน ASTM เป็นที่นิยมใช้และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก มีบทความในปี 1989 กล่าวถึงว่า Silicone Grease นั้นมีการใช้กับออกซิเจนแรงดันต่ำกันอย่างเป็นเรื่องปกติ (0-0.4Mpa หรือไม่เกิน 4 บาร์) และพบการจุดระเบิด (ignition) ที่ออกซิเจนแรงดันสูงกว่า 10Mpa หรือ 100 บาร์


จาก abstract ของบทความนี้ จึงเป็นที่แน่นอนว่า silicone grease ไม่สามารถใช้ได้กับ first stage ที่ใชกับถังอากาศที่มีออกซิเจนมากกว่า 50% ได้ ซึ่งการใช้ออกซิเจนเข้มข้นขนาดนี้ จะใช้ในการดำน้ำแบบ Technical Diving เท่านั้น แต่หากจะให้ปลอดภัยมากขึ้นจากการจุดระเบิดจาก silicone grease นี้ก็ไม่ควรใช้ใน first stage สำหรับ recreational เช่นกัน เนื่องจากสัดส่วนออกซิเจนสูงสุดที่ Enriched Air Nitrox Diver นั้นอยู่ที่ 40% เลยทำให้แรงดัน O2 ในถังสูงสุดอยู่ที่ 8Mpa หรือ 80 บาร์ จึงควรเพิ่มระยะปลอดภัย และใช้ oxygen compatible lubricant จะดีกว่า


เรื่องต่อไปที่นักดำน้ำควรสังเกตุคือการชะล้างออกของของสารหล่อลื่น ซึ่งความจริงคือ silicone grease มีความข้นเหนียวกว่า และนักดำน้ำ CCR หลายท่านเลือกใช้ silicone grease สำหรับส่วนที่ไม่สัมผัสออกซิเจนแรงดันสูง เนื่องจากมีความสามารถในการซีลได้ดีกว่า oxygen lubricant ซึ่งตามหลักการทดสอบ Water Washout (ASTM D1264 / DIN 51807-T2) จะเป็นตัวชี้วัดเรื่องนี้ได้


ทั้ง silicone grease และ oxygen lubricant นั้นมีช่วงอุณหภูมิการใช้งานที่กว้างมาก เช่น -40 ถึง 200 องศาเซลเซียส ดังนั้นกับการดำน้ำแล้วช่วงการทำงานจึงไม่มีนัยยะสำคัญใดๆ และช่วงอายุการใช้งานก็จะมีอายุประมาณ 1-2 ปี ยกตัวอย่างเช่น Silicone Grease นั้นจะแห้งไป, ส่วน Christolube นั้นก็จะแห้งเช่นกัน แต่ Lubricant บางยี่ห้อเช่น Tribolube จะไม่แห้งเป็นคราบเกาะ แต่จะคงสภาพ lubricant ได้ยาวนาน


สรุปใจความแล้ว ในการใช้งานจริงถ้าหากใช้อากาศปกติเป็นหลักในการดำน้ำ การใช้ silicone grease นั้นเป็นที่พอจะยอมรับได้ถ้าเป็นความรับผิดชอบของผู้ที่เลือกใช้ และจะต้องใช้ oxygen compatible lubricant กับส่วนที่สัมผัสกับออกซิเจนแรงดันสูงเท่านั้น ชิ้นส่วนที่สัมผัสกับออกซิเจนแรงดันสูง เช่น first stage หรือ ถังดำน้ำ แต่ในส่วนที่ไม่ได้รับออกซิเจนแรงดันสูง เช่น second stage ก็สามารถใช้ silicone grease ได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ และชุมชนนักดำน้ำเช่น scubaboard.com ก็มีความเห็นค่อนข้างไปทิศทางเดียวกันว่าสามารถใช้งานกับอากาศปกติได้


อย่างไรก็ดี ความเห็นของนักดำน้ำ กับข้อแนะนำจากผู้ผลิตนั้น ไม่เหมือนกัน ผู้ผลิตอุปกรณ์ดำน้ำมักจะแนะนำ Christolube (MCG-111 หรือ MCG-129) หรือเทียบเท่าในการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ดำน้ำ แม้ต่างประเทศจะใช้หลายยี่ห้อ เช่น Krytox, Molykote, Tribolube, หรือ silicone grease ทั่วไป ซึ่งหน้าที่ของช่างซ่อมบำรุง ก็ควรทำตามที่ผู้ผลิตกำหนด หากต้องเปลี่ยนสารหล่อลื่นนอกเหนือจากที่ผู้ผลิตกำหนด ควรแจ้งผู้ใช้งานให้รับรู้ และเข้าใจถึงข้อควรระวังในการใช้งานด้วย





ดู 66 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page