top of page
ค้นหา

Regulator จะถูก จะแพง ต้องเอาตัวไหน?

อัปเดตเมื่อ 21 มี.ค.

อุปกรณ์ดำน้ำมีมากมายหลายยี่ห้อ ที่ทำตลาดอยู่ในประเทศไทย และรวมไปถึงโรงงานที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศอังกฤษ, อิตาลี, ไต้หวัน, ฝรั่งเศส, หรือประเทศจีน ตีแบรนด์ต่างๆออกมาให้นักดำน้ำได้เลือกใช้กันมากมาย


คำถามจึงมักเกิดเสมอว่า แล้วยี่ห้อไหนดี? ใช้ยี่ห้อ A ดีกว่ายี่ห้อ B ไหม? คำตอบของคำถามนี้ที่เราคิดว่าถูกต้องที่สุดสำหรับเราคือ มันไม่ได้ตายตัว ตลาดผลิตสินค้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้ จึงควรเลือกให้เหมาะกับความต้องการ ถ้าต้องการตัวท้อป ประสิทธิภาพสูง ก็เลือกซื้อตัวแพง แต่ถ้าจะเก็บเงินส่วนต่าง ไปซื้อรุ่นรองลงมา ก็ได้เหมือนกัน เหมือนเราซื้อรถคันใหญ่ ซื้อรถคันเล็ก สุดท้ายก็ได้การเดินทางจากจุดหนึ่ง ไปยังจุดหนึ่งอยู่ดี แต่มันก็ไม่ได้จำเป็นต้องใช้รถหรูอะไร รถไหนๆก็ไปได้เหมือนกัน หรือถ้าโดนเพื่อนป้ายยาว่า เพิ่มอีกหน่อยได้ของดีกว่า อันนี้ถ้างบถึงก็ซื้อได้เหมือนกัน มันเป็นเรื่องของความต้องการและความสบายใจ


ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราอยากซื้อ Sidemount Regulator ซักชุด ที่คนไทยนิยมกันก็จะเป็น Apeks XTX50 sidemount หรือ Scubapro MK25, G260 sidemount ที่ทั้งสองตัวนั้นราคาผ่านตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยขึ้นไปสูงกว่า 70,000 บาทแล้ว แต่ถ้ามองกลับกันว่าทางฝั่งประเทศยุโรป นักดำน้ำที่เราเห็นกันผ่านสื่อ social media นั้นไม่ว่าจะดำน้ำสนุกสนาน หรือดำน้ำเทคนิคัลขนาดไหน ก็มักจะเห็นนักดำน้ำฝั่งยุโรปหลายคนใช้ Tecline R2/TEC2 ในการดำน้ำแบบ sidemount ทั้งที่จริงๆแล้วนั้นราคาจากผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทยยังไม่ถึง 50,000 บาท แต่มีรองรับ CE, EN250 และฟังก์ชั่นการออกแบบเทียบเท่ากันกับแบรนด์ชั้นนำทุกประการ เพื่อรับรองคุณภาพมาตรฐานยุโรป และนิยมใช้กันในการดำน้ำถ้ำ, ดำน้ำเหมือง, และดำน้ำลึกแบบเทคนิคัลไดฟ์วิ่งอีกด้วย


เราจึงอยากมาเล่าให้ฟังว่า Regulator ที่แพงกว่า คุณจ่ายไปกับอะไร? และ Regulator ที่ไม่ดี สังเกตุได้อย่างไร? ไปดูกันได้เลย


วัตถุประสงค์หลักของ Regulator

หน้าที่ของ regulator คือ ควบคุมแรงดันตามที่กำหนดไว้ (regulate pressure) เพื่อให้นักดำน้ำสามารถหายใจใต้น้ำได้โดยไม่มีปัญหา ประกอบด้วยตัวลดแรงดันขั้นที่หนึ่ง (first stage regulator) ที่จำต้องทำการควบคุมแรงดันอากาศแรงดันสูง (15 - 300 บาร์) มาเป็นแรงดันปานกลาง (medium pressure 9 - 10 บาร์) ส่งมาที่ตัวลดแรงดันขั้นที่สอง (second stage regulator) ที่จะจ่ายอากาศตามที่เราต้องการ โดยจะจ่ายออกมาเป็นแรงดันที่ความลึกที่เราอยู่ (ambient pressure) นั่นเอง


Regulator ตัวถูก v Regulator ตัวแพง

Regulator ที่ราคาถูก จะออกแบบในรูปแบบ unbalanced regulator ที่ไม่ซับซ้อน เน้นชิ้นส่วนเคลื่อนไหวน้อย ซึ่งทำให้การใช้งานนั้นทนทาน โอกาสที่ทำงานผิดพลาดต่ำมาก และค่าซ่อมบำรุงก็จะถูกลง เหมือนรถแท็กซี่ ที่เน้นถึก เน้นทน เน้นซ่อมง่าย นั่นเอง แลกมาด้วยการควบคุมแรงดันของ unbalanced first stage ที่ไม่คงที่ เช่นตอนอากาศเต็มถัง แรงดัน mp จะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ แต่เมื่ออากาศในถังเหลือน้อย มีแรงดันไม่มาก หรือเมื่ออยู่ในที่ลึก แรงดัน mp จะลดต่ำลงในขณะใช้งาน ทำให้การหายใจรู้สึกหนืดขึ้นตอนอากาศในถังเหลือน้อย และการคุมแรงดันของ unbalanced second stage ที่ไม่สามารถปรับหมุนอะไรได้ เมื่อแรงดัน mp ในระบบลดลง unbalanced second stage ก็จะจ่ายอากาศหนืดขึ้นเช่นกัน จึงเห็นประสิทธิภาพที่ลดลงได้อย่างชัดเจนเมื่อแรงดันในถังต่ำกว่า 50-60 บาร์ (ซึ่งก็เป็นช่วงที่กำลังพักน้ำ และใกล้จบการดำน้ำแล้ว) หรือดำน้ำลึกที่มากกว่า 40 เมตร


Regulator ที่มีราคาสูงขึ้น มักจะเป็น balanced regulator ที่มี moving parts เยอะกว่า ใช้ชิ้นส่วนซ่อมบำรุงเยอะกว่า แต่การควบคุมแรงดันจะทำได้คงที่ตั้งแต่อากาศเต็มถัง จนอากาศหมดถัง และ balanced second stage ที่จะใช้แรงดูดอากาศไม่มาก ทำให้รู้สึกดูดอากาศได้ไหลลื่น รวมกันสองอย่างนี้เรียกได้ว่าใช้อากาศหมดถังไม่รู้ตัวได้เลย


ในส่วนของ first stage นั้นนอกจากการทำงานพื้นฐานแล้ว ถ้า regulator รุ่นที่มีราคาสูง มักจะมีฟังก์ชั่นเพิ่มเติม เช่น environmental seal, swivel turret, 5th ports, ฯลฯ ที่ตอบโจทย์การทำงานของนักดำน้ำที่มีความต้องการแตกต่างกัน เช่น sidemount regulator, หรือ cold water diving regulator เป็นต้น

ตัวบดวาล์วแรงดันสูง (HP Seat) ของ APEKS และ AQUALUNG ในระบบ balanced diaphragm

ใน Regulator แต่ละยี่ห้อก็จะมีการออกแบบ ตัวบดวาล์วแรงดันสูง (High Pressure Seat) ที่มีหน้าตาแตกต่างกันออกไป แต่ออกแบบให้มีความทนทานมากพอในการใช้งานเป็นไปตามกำหนดของผู้ผลิตที่ต้องมีการซ่อมบำรุงทุก 1-2 ปี หรือ 100-200 ไดฟ์ อยู่แล้ว การที่มองเห็นว่า HP Seat ยี่ห้อไหนหนากว่า นิ่มกว่า แข็งกว่า ไม่ได้แปลว่ามันดีกว่าอีกยี่ห้อหนึ่งเสมอไป และไม่ได้ทนกว่าอีกยี่ห้อหนึ่งเสมอไป เพียงแต่ HP Seat จะต้องถูกออกแบบให้สามารถใช้งานกับ Regulator ได้หลายรุ่น เพื่อให้ต้นทุนการผลิต service kit ของ Regulator ยี่ห้อนั้นๆ มีราคาลดลง เพราะฉนั้น จึงไม่แปลกใจที่ ชุดซ่อมของยี่ห้อหนึ่ง จะมี HP Seat หน้าตาเหมือนกันแทบทุกรุ่น (ยกตัวอย่างเช่น Apeks, Tecline, Dive Rite, หรือ Aqualung)


ในส่วนของ Second Stage นั้น ระบบ unbalanced นั้นก็จะใช้ชิ้นส่วนน้อยมาก อาจจะน้อยถึง 3-5 ชิ้นเท่านั้น ทำให้การดูแลไม่แพง แต่นักดำน้ำต้องออกแรงสูดอากาศ ทำให้ใช้รู้สึกต้องดูดอากาศค่อนข้างแรงใต้น้ำ เพื่อให้จ่ายอากาศเพียงพอ แต่ Pneumatically Balanced Second Stage ทั้งแบบมีหรือไม่มีลูกบิดที่ปรับแรงต้านการหายใจได้ใต้น้ำก็ได้ (เช่น Aqualung Titan LX, Apeks XTX40, ฯลฯ) จะออกแบบให้ใช้แรงเพื่อหายใจน้อยมาก เรียกได้ว่าแค่กระดิกลิ้น อากาศก็ไหลเข้าปากแล้วก็ได้ แต่การซ่อมบำรุงก็จะใช้ชิ้นส่วนเปลี่ยนที่เยอะกว่า ซึ่งทำให้ราคา service kit สูงขึ้นแน่นอน


สิ่งที่คุณจ่ายให้กับความถูกความแพงของอุปกรณ์ดำน้ำ มักจะมีเรื่องต่างๆต่อไปนี้

  • วัสดุโลหะ เช่น ไทเทเนียม, สแตนเลส, โมเนล, ทองเหลือง ฯลฯ ที่แตกต่างกันออกไป

  • ชื่อยี่ห้อของแบรนด์

  • คุณลักษณะเฉพาะต่างๆ เช่น Teflon Coating, Cold Water Diving, Swivel Turret, 5th port, หรือ Environmental Seal เป็นต้น

  • ประสิทธิภาพการหายใจที่ดีใต้น้ำ

ทริกง่ายๆในการซื้อ Regulator

  1. มีตัวแทนจำหน่ายชัดเจน ถ้านักดำน้ำซื้ออุปกรณ์ดำน้ำยี่ห้อใด ที่มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในพื้นที่ และมีรับซ่อมบำรุงอุปกรณ์พร้อมอะไหล่ที่จัดหาได้ ย่อมสร้างความสบายใจในเรื่องการใช้งานระยะยาวต่อผู้ใช้งานด้วย

  2. ซ่อมบำรุงง่าย ใครก็ซ่อมได้ นักดำน้ำควรเข้าถึงผู้ซ่อมได้ง่าย โดยที่ไม่ต้องรอคิวเซอร์วิสนาน หรือต้องมีคนเซอร์วิสเพียงแค่ 1-2 คนในพื้นที่ของคุณ ซึ่งมีความเสี่ยงเรื่องการรอคอยที่ยาวนาน และทำให้การวางแผนไปทริปดำน้ำผิดพลาดไปได้ การหาอะไหล่ แม้จะต้องมีการรอคอยบ้าง แต่สามารถสั่งได้ (ปกติตัวแทนมักจะสำรองชุดซ่อม ที่เป็นอุปกรณ์สิ้นเปลือง แต่อะไหล่ชิ้นใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนจากการเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุ มักจะต้องมีการรอชิ้นส่วนบ้าง)

  3. ไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงเสมอไป มีราคาเหมาะสม เร็กที่ดี คือเร็กที่คุณซื้อใช้ มีความสุข และไม่ต้องเดือดร้อนควักกระเป๋าจ่ายเงินเกินงบประมาณ ก็สามารถใช้ได้ สามารถเลือกได้ เรารับประกันว่าความสามารถในการหายใจ ถ้าเป็น Balanced First Stage + Balanced Second Stage รุ่นไหนๆ แม้ลักษณะการจ่ายอากาศจะแตกต่างกันตามบ้าง แต่อากาศจะจ่ายได้ไหลลื่น ใช้แรงหายใจน้อย เพียงพอต่อการใช้งานแน่นอน

Blue Culture Diving เป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดำน้ำคุณภาพสูงหลายยี่ห้อที่ผลิตจากหลายประเทศทั่วโลก เช่น TECLINE จาก Poland, SCUBAPRO จาก USA, APEKS จาก UK, AQUALUNG จาก France, MARES จาก Italy, และอื่นๆอีกมากมาย ที่พร้อมให้คำปรึกษา และดูแลอุปกรณ์ของคุณตลอดอายุการใช้งาน

ดู 63 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page