top of page
ค้นหา

M-Value กับ GF ใน Buhlmann Decompression Model

อัปเดตเมื่อ 20 ก.พ.

การดำน้ำโดยใช้ Dive Computer ที่อาศัยการคำนวนโดยการใช้ algorithm ของ Buhlmann นั้นจะวนเวียนอยู่กับค่า M-Value และ Gradient Factors เป็นสำคัญ ซึ่งไดฟ์คอมพิวเตอร์หลายยี่ห้อนั้นอนุญาตให้นักดำน้ำสามารถปรับ GF ได้ด้วยตนเอง ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ของนักดำน้ำแต่ละคนไป แต่ก่อนที่จะเข้าใจการปรับ GF ได้นั้น จะต้องเข้าใจหลักกระบวนการคิดของ Buhlmann และ M-Value เสียก่อน ถึงจะปรับได้อย่างมีความเข้าใจมากขึ้น


หลักการดำน้ำนั้น กล่าวโดยง่ายคือ

  • เมื่อเราลงไปในที่ลึก หายใจก๊าซที่มีแรงดันมากขึ้น ตามกฎของ Henry Law คือ แรงดันในของเหลวจะเป็นสัดส่วนเท่ากันกับแรงดันของก๊าซเหนือของเหลว ยิ่งเราดำน้ำลึกเท่าไหร่ แรงดันก๊าซที่เราหายใจจะมีมากขึ้น และทำให้ก๊าซนั้นทำละลาย (หรือ กำซาบ) เข้าสู่ร่างกายของเรา เราเรียกการนำก๊าซเข้าร่างกายว่า on-gassing

  • เมื่อแรงดันของก๊าซในเนื้อเยื่อของร่างกายนักดำน้ำนั้นมีเท่ากันกับแรงดันของก๊าซหายใจแล้ว ก๊าซจะไม่มีการทำละลายเข้าสู่เนื้อเยื่ออีก ซึ่งเนื้อเยื่อที่มีก๊าซทำละลายเท่ากับแรงดันของก๊าซที่ใช้หายใจนั้น เราจะเรียกว่าเนื้อเยี่อนั้นมีสภาวะการอิ่มตัวของก๊าซแล้ว (saturated tissue)

  • เมื่อเราเสร็จสิ้นภารกิจการดำน้ำในที่ลึก และกำลังขึ้นสู่ที่ตื้นนั้น แรงดันก๊าซที่หายใจอยู่จะลดลง เกิดให้แรงดันก๊าซที่ทำละลายอยู่ในเนื้อเยื่อนั้น น้อยกว่าแรงดันก๊าซที่หายใจอยู่ เกิดภาวะแรงดันก๊าซเกินอิ่มตัว (supersaturated tissue) และก๊าซเหล่านั้นก็จะการระบายออกมาจากเนื้อเยื่อของผ่านปอด และการหายใจของนักดำน้ำ เราเรียกการนำก๊าซออกจากร่างกายว่า off-gassing หรือ desaturation of tissue

การ off-gassing นี้นั้น จะมีความปลอดภัยถ้าเรากระทำโดยไม่เกิน dive computer กำหนดคค่าไว้ เพราะจากการค้นคว้าวิจัยพบว่า เนื้อเยื่อในร่างกายนักดำน้ำจะสามารถทนการเกิด supersaturation ได้ระดับหนึ่งก่อนที่จะเกินระดับความไม่ปลอดภัย ซึ่งนักดำน้ำนั้นได้กำหนดค่าทนการเกิด supersaturation สูงสุดไว้ ซึ่งค่านั้นคือ M-Value (Maximum Value) นั่นเอง ขณะที่นักดำน้ำเปลี่ยนความลึก จากที่ลึก สู่ที่ตื้น ค่า supersaturation ก็จะสูงขึ้น และการ off-gassing จะทำให้ค่า supersaturation ลดลง ถ้าหากนักดำน้ำมีการขึ้นสู่ที่ตื้นเร็วเกินไป ค่า supersaturation นั้นเกินค่า m-value ขึ้นไป ความเสี่ยงของการเกิด DCS นั้นก็จะมีมากอยู่ในระดับที่อันตราย หรือเกิดฟองอากาศที่ทำให้มีอาการเจ็บป่วยได้ (symptomatic bubbles)

เพื่อไม่ให้การดำน้ำนั้นมีความเสี่ยงมากเกินไป เราจะมีการตั้ง safety margin ในการดำน้ำ ไม่ให้ supersaturation level อยู่ใกล้กับ m-value มากเกินไปนัก ดังนั้นเราจะมีการตั้งค่า safety level หรือเรียกว่า Gradient Factor นั่นเอง

การตั้งค่า GF นั้นจะมีเลขสองค่า คือ GFlow และ GFhigh ซึ่งสองค่านี้จะถูกเขียนเป็น Low/High ตัวอย่างเช่น 50/70, 35/85, หรือ 50/80 เป็นต้น


GF Low - จะเป็นการตั้งค่าตัวล่างของ GF ให้เป็น % ของ M-Value เช่น 50% ของ M-value ซึ่งยิ่งตัวเลขต่ำ First Decompression Stop จะเริ่มต้นในที่ลึก


GF High - จะเป็นการตั้งค่าตัวบนของ GF ให้เป็น % ของ M-Value เช่น 70% ของ M-value ซึ่งยิ่งตัวเลขต่ำ เวลา Decompression Stop สุดท้ายจะนานมากขึ้น เพื่อให้มีเวลาในการระบายไนโตรเจนอย่างเต็มที่ และเมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำจะมีค่า tissue supersaturation อยู่ที่ 70% ของ M-value นั่นเอง ซึ่งยิ่งค่า GF High ต่ำ ถึงแม้จะมีการทำ decompression stop ที่นานขึ้น แต่ร่างกายของนักดำน้ำเอง ก็จะรู้สึกเหนื่อยน้อยลงเมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำ เนื่องจากเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายนั้นจะมีการตึงเครียดขณะลดแรงกด (decompression stress) ซึ่งส่งผลให้เรารู้สึกเหนื่อยๆ เฉื่อยๆ หรืออยากนอนหลังจากขึ้นมาจากการดำน้ำ ถ้าหากนักดำน้ำมีอัตรา supersaturate สูง ก็จะมี decompression stress ที่มากกว่านักดำน้ำที่มีสัดส่วน supersaturate ต่ำกว่า


การตั้งค่า GF จะตั้งมั่วซั่วส่งเดชโดยไม่เข้าใจการทำงานจะมีผลโดยตรงต่อ dive profile ของนักดำน้ำเอง ถ้าไม่แน่ใจเรื่องการตั้งค่า GF ควรใช้ Preset ของ dive computer ที่มีมาให้ รวมไปถึงการตั้ง GF เมื่อดำน้ำเป็นทีม หรือกับคู่บัดดี้ ที่ต้องอ้างอิงค่า NDL ของนักดำน้ำในกลุ่มที่น้อยที่สุด จึงต้องมีการวางแผนกับทีมว่าจะใช้ GF ระดับเดียวกัน เพื่อให้ประสบการณ์ดำน้ำของเราปลอดภัย และสนุกที่สุดอีกด้วย

ดู 19 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page