top of page
ค้นหา

แนวทางการเลือก Regulator

อัปเดตเมื่อ 22 ต.ค. 2566

กิจกรรมดำน้ำเป็นกิจกรรมที่ใช้อุปกรณ์มากมาย โดยเฉพาะ Regulator ที่ถือเป็นอุปกรณ์พยุงชีพอันสำคัญ ที่หลายคนมักให้ความสำคัญในการเลือกซื้อ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้เป็นอุปกรณ์ควบคุมแรงดันลม จ่ายอากาศให้นักดำน้ำหายใจ มีหลายยี่ห้อ หลายราคาให้เลือกใช้

ครูสอนดำน้ำส่วนใหญ่ จะขายเท่าที่ตัวเองรู้จักและเคยใช้ ตามประสบการณ์ของตนเองและจะเชียร์ขายของที่มีราคา แต่อยากให้อ่านบทความนี้จนจบก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะเราใช้ของมาหลายรูปแบบ และมีประสบการณ์ในการซ่อมบำรุงอุปกรณ์มาหลายยี่ห้อ รายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆน้อยๆ ที่เราอยากให้คุณเข้าใจว่าดีไซน์ไหนเหมาะกับใคร


เร็กกูเลเตอร์เราใช้หายใจใต้น้ำนั้น ทำงานสองขั้นตอน ขั้นแรกอากาศแรงดันสูงในถัง สูงสุดถึง 300 บาร์ (High pressure) จะถูกควบคุมด้วย First Stage Regulator ที่ลดแรงดันสูง มาเป็นแรงดันปานกลาง (Medium Pressure บางคนก็เรียกว่า Intermediate Pressure) ที่อยู่ที่ราวๆ 9-10 บาร์ ส่งผ่านมาที่ Second Stage regulator ที่จะจ่ายอากาศเมื่อเราต้องการ ผ่านการหายใจผ่าน Demand Valve ที่เปิดเมื่อนักดำน้ำหายใจเข้าเท่านั้น และปิดเมื่อนักดำน้ำหายใจออก โดยแรงดันที่จ่ายให้จะเป็นแรงดันที่จ่ายที่ความลึกที่นักดำน้ำอยู่ (Ambient Pressure) นั่นเอง


วางแผนตัวเองให้เรียบร้อย

ถ้าเราชอบดำน้ำ แล้วเราชอบบรรยากาศการดำน้ำ ธรรมชาติ ที่เที่ยวต่างๆ ทะเล ฝูงปลา เรียบง่าย ก็จะเป็นเร็กกูเลเตอร์ยี่ห้อใดก็ได้ ที่ดีที่สุดเท่าที่งบประมาณเราจะไปถึง เพราะการดำน้ำแบบ Backmount เร็กกูเลเตอร์แบบที่เราเรียนกันปกติทั่วไป ก็เพียงพอ เหลือเฟือต่อการใช้งานแล้ว แต่ถ้าเป็นคิดเผื่อ อยากพัฒนาฝีมือตัวเองในอนาคต จะเป็น Sidemount, Twinset, Cave, Wreck ฯลฯ แล้วหล่ะก็ อยากให้ระบุว่าของที่ใช้นั้น จะต้องมี Low Pressure Swivel Turret ที่สามารถหมุนได้ เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการใช้สายยาง และเลือกที่มีช่อง 5th Low Pressure Port ที่ด้านปลายของเร็กกูเลเตอร์ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดเร็กกูเลเตอร์ในรูปแบบต่างๆได้ เพราะการซื้อของเพิ่มเติมในทีหลัง จะไม่ใช่การซื้อใหม่ยกเซ็ต แต่สามารถ upgrade จากเซ็ตที่มีอยู่ โดยการซื้อชิ้นส่วนเพิ่มเติมทีหลังได้ จะคุ้มค่าการลงทุนกว่ามาก


อุปกรณ์ดำน้ำเป็น Social Status?

หลายๆครั้งการพบกันบนเรือ มักจะเห็นคนที่ใช้อุปกรณ์ดำน้ำเก่าๆ กับอุปกรณ์ดำน้ำใหม่ๆ แล้วก็มักจะเกิดการเปรียบเทียบกันในใจ อยากให้ทุกคนใจเย็นๆ ว่าทุนใคร ทุนมัน ถ้าหากเราใช้อุปกรณ์ชุดนี้แล้วมันพอดีเรา เป็นชุดความสุขเรา แฮปปี้ที่มีของตัวเอง จะเป็นอะไรก็ได้ มันไม่สำคัญ การจะบอกไม่ใช้ยี่ห้อนั้นไม่ดี ยี่ห้อนี้ไม่เท่ห์ เป็นเรื่องของปัจเจก ถ้าบอกว่ายี่ห้อไหนดี ซื้อให้เราใช้ เราก็จะโอเค ขอบคุณมาก แต่ถ้าเงินเรา เราก็ต้องเป็นคนตัดสินใจดีที่สุด เร็กกูเลเตอร์ เป็นอุปกรณ์ดำน้ำมีแบรนด์ ต่างยี่ห้อ ต่างเรื่องราวและที่มาของมัน แต่มันเป็นอุปกรณ์ควบคุมแรงดันลมที่ใช้หลักการเชิงกลเป็นหลัก ดังนั้นมันแทบไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆที่ทำให้เร็กกูเลเตอร์ตัวเก่งของคุณดูด้อยค่าลงไป อาจจะมีเรื่องของแหล่งที่มา วัสดุ การออกแบบ สารเคลือบของมันที่ถูกพัฒนาขึ้นจากแต่ก่อน ตัวแปรที่แท้จริงมีแค่การใช้งานและกาลเวลาที่ทำให้เร็กกูเลเตอร์ตัวเก่งของคุณจำเป็นต้องเกษียณออกไป ไม่ว่าจะเป็นชุดซ่อมหรืออะไหล่ที่หาไม่ได้จากผู้ผลิตแล้ว หรืออุปกรณ์ดำน้ำที่หาอะไหล่ในประเทศไม่ได้ ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ไม่มีช่างซ่อมที่มีความรู้มากพอ ฯลฯ เร็กกูเลเตอร์ ถ้าดูแลกันดีๆ ใช้เป็นสิบปีก็ยังใช้ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ขอเพียงแค่ยี่ห้อที่เราเลือกผ่านมาตรฐานนานาชาติที่ทั่วโลกยอมรับ ก็ย่อมเพียงพอแล้ว (ISO, CE, EN, etc.)


ใช้ Yoke หรือ DIN ดี?

YOKE หรือ DIN เป็นชื่อเรียกระบบการต่อเข้ากันระหว่างถังกับเร็กกูเลเตอร์ “DIN” เป็นตัวย่อมาจาก Deutsches Institut für Normung ซึ่งเป็นสถาบันกำหนดมาตรฐานของประเทศเยอรมันนี เพราะฉะนั้นหัวต่อ DIN จึงเป็นที่นิยมในประเทศเยอรมันนี และในทวีปยุโรป และยังเป็นตัวเลือกหลักของนักดำน้ำเทคนิคัล หรือ นักดำน้ำถ้ำหรือเรือจม เพราะว่ามันมีจุดเชื่อมต่อแบบเกลียว ที่แข็งแรงกว่า รับแรงดันได้มากกว่า (สำหรับ DIN300 สามารถรับแรงดันได้ถึง 300 บาร์) และภาพรวมเมื่อต่อกับถังนั้นทำให้มีโอกาสเกี่ยวติดกับสิ่งของ/เชือกใต้น้ำได้น้อย รวมถึงยังมีโอริงสำหรับซีลอากาศอยู่ที่ตัว first stage เพราะฉนั้น โอริงจะได้รับการบำรุงรักษาโดยเจ้าของเร็กกูเลเตอร์ด้วย “YOKE” ไม่ได้เป็นตัวย่อใดๆ แต่เป็นชื่อเรียกการเชื่อมต่อที่ครอบหัววาล์วแล้วล็อกด้วยเดือยผ่านสกรูด้านหลังวาล์วอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งร้านดำน้ำต่างๆในเมืองไทยหรือต่างประเทศ (นอกประเทศในทวีปยุโรป) ส่วนมากจะมีหัววาล์วประเภทนี้ให้บริการ ซึ่ง Yoke จะสามารถรับแรงดันได้สูงสุด 232 Bar ซึ่งมากพอในการดำน้ำทั่วไปอยู่แล้ว อีกทั้งระบบ Yoke นั้นโอริงซีลอากาศจะอยู่ที่ถัง ซึ่งมักจะได้รับการดูแลจากเรือเมื่อรับทราบว่าเสื่อมสภาพ อย่างไรก็ดี นักดำน้ำก็ยังต้องเป็นคนรับผิดชอบในการตรวจสอบโอริงก่อนใช้งานอยู่เสมอ เร็กกูเลเตอร์ไม่ว่าจะเป็น Connection ไหนๆ ราคาก็แทบไม่ต่างกันเลย เพียงแต่แตกต่างกันเพราะตามความต้องการของตลาดเท่านั้นเอง ถ้าใช้ DIN แล้วบนเรือมีแต่ถัง YOKE ก็สามารถซื้อ DIN to YOKE adaptor (800-1500 บาท) ติดตัวไว้ได้ แต่ถ้าใช้ Yoke แล้วบนเรือมีแต่ถัง DIN เราก็สามารถหา DIN Insert (300-500 บาท) เตรียมไว้ใช้ใส่เข้าไปในวาล์วที่หัวถังได้เหมือนกัน ส่วนตัวผมมองว่า Yoke จะสะดวกกว่า สำหรับนักเดินทางที่ชอบความง่าย เพราะง่ายจริงๆ ครอบ เปิด จบ แต่ถ้าเป็น DIN จะต้องมีอุปกรณ์เสริมเพิ่มขึ้น ฝาปิดเกลียว โอริง DIN สำรอง (โอริง DIN หายไม่ยากนะ) ความรับผิดชอบ DIN ก็จะมีมากกว่าหน่อย แต่ถ้าอยากเป็นนักด้ำ Sidemount, Twinset แล้วหล่ะก็ ไป DIN เท่านั้นได้เลย แล้วหา adaptor เผื่อไว้ด้วยหล่ะ จะใช้กับถังดำน้ำทุกใบบนโลกได้เลย


Material: Zircronium, Brass, Monel, Stainless Steel, Titanium

วัสดุของ First Stage จะเป็นตัวบ่งบอกความทนทาน ซึ่งส่วนมาก 90% เร็กกูเลเตอร์จะทำมาจากทองเหลืองชุบนิกเกิ้ล หรือชุบโครม เพื่อเพิ่มความทนทานและความเงางาม และถ้าหากจะไปใช้วัสดุที่ทนการกรัดกร่อนอื่นๆเช่น Zircronium, Monel, Brass, Stainless Steel, หรือ Titanium ก็สามารถเลือกได้ตามงบประมาณที่กำหนดไว้


ข้อควรระวังคือ Titanium ไม่สามารถใช้กับก๊าซที่มีค่าออกซิเจนสูงเกิน 40% ได้ เพราะออกซิเจนกับไทเทเนียมสามารถทำปฏิกิริยากันได้

Piston v Diaphragm First Stage?

ลักษณะการควบคุมแรงดันของเร็กกูเลเตอร์แบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ แบบลูกสูบ (Piston) และแบบแผ่นไดอะแฟรม (Diaphragm) โดยสองอย่างนี้สามารถจ่ายอากาศให้นักดำน้ำได้อย่างพอเพียงอยู่แล้ว เพียงแต่คาแร็คเตอร์ของทั้งสองอย่างนั้น แตกต่างกันอย่างชัดเจน

  • ชิ้นส่วนเคลื่อนไหวของ Piston จะน้อยกว่าไดอะแฟรม และส่วนที่รับแรงดันจะเป็นส่วนที่ทำจากโลหะ ทำให้มีความทนทานสูง ในขณะที่ไดอะแฟรมจะเป็นแผ่นยางที่คอยรับแรงดันน้ำ

  • Piston จะได้ Flow Rate (อัตราจ่ายอากาศ) สูงกว่า Diaphragm

  • อะไหล่ในการบำรุงรักษา Piston จะต่ำกว่า Diaphragm

  • Diaphragm จะรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงแรงดันได้ดีกว่า Piston ด้วยส่วนรับแรงดันที่อ่อนกว่า ทำให้การจ่ายอากาศทำได้อย่างละเอียด

ข้อแตกต่างในเรื่องของการรับรู้แรงดัน และอัตราการจ่ายอากาศที่ไม่เท่ากัน การหายใจจาก Piston Regulator จึงทำให้รู้สึกว่าอากาศจ่ายหนัก จ่ายเป็นก้อนๆ แต่ไดอะแฟรมจะจ่ายแบบนุ่มๆ หายใจสบายๆ ซึ่งถ้าคนที่ชอบใช้ Piston มาใช้ Diaphragm จะรู้สึกจ่ายอากาศไม่พอกันเลยทีเดียว แต่คนที่ใช้ Diaphragm มานาน แล้วมาใช้ Piston ก็จะรู้สึกว่าอากาศมันอัดมาเยอะ จนอ้วกกันก็มีให้พบเห็น


Unbalanced vs Balanced Regulator

เรามักจะได้ยินบ่อยๆว่าเร็กกูเลเตอร์ต้องใช้แบบ"บาลานซ์"ถึงจะจ่ายอากาศได้ดี ซึ่งเป็นการด้อยค่า Unbalanced Regulator ไปค่อนข้างเยอะ เลยอยากจะให้พื้นที่ของ Unbalanced Regulator ได้มีที่ยืนบ้าง คือ Unbalanced เนี่ย มีข้อดีมากๆเลย คือ "ทน" ทนสุดๆ ถึกสุดๆ ซึ่งปัจจุบันเร็กกูเลเตอร์ในจำหน่ายในตลาดที่เป็น Unbalanced นั้น จะมีแต่ Unbalanced Piston เท่านั้น และมันก็ "ถูก" ทั้งราคาซื้อ ทั้งอะไหล่ซ่อมบำรุง มันจึงไม่แปลกเลยที่จะเป็นขวัญใจร้านดำน้ำ เรือดำน้ำ กับอุปกรณ์ที่พังยาก ใช้ทุกวันก็พังยาก และมีจำนวนหลายสิบชุดซึ่งทำให้การดูแลอุปกรณ์สำหรับร้านดำน้ำ ง่ายขึ้นมาก


อย่างไรก็ดี Unbalanced Regulator มีข้อจำกัดในเรื่องการควบคุมแรงดัน เมื่อแรงดันในถังอากาศลดลง การจ่ายอากาศจะช้าลง ทำให้รู้สึกหนืด หรือต้องใช้แรงดูดมากขึ้น ทำให้เมื่อต้องดำน้ำลึกๆนานๆ เจ้า Unbalanced ก็จะเสียเปรียบ Balanced Regulator ได้ แต่ถ้าหากหาต้นทุนถูก ดำน้ำบ่อยๆ เจ้านี่แหละ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่แล้ว


อีกอย่าง ถ้าหากเราดำน้ำแล้วเราต้องการเร็กกูเลเตอร์สำรอง หรือสำหรับทำ stage decompression ที่ไม่สามารถใช้ที่ความลึกมากๆได้ Unbalanced Regulator ก็เป็นตัวเลือกแรกๆที่พิจารณาเช่นกัน จะเห็นได้ว่า Diaphragm, Piston, Balanced, Unbalanced เป็นเรื่องที่แยกกันชัดเจน ถ้าใครอธิบายรวมๆกัน อาจจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจคลาดเคลื่อนได้


Open Spring Chamber (Unsealed) vs Environmental Seal (Sealed)

การทำงานของเร็กกูเลเตอร์ จะควบคุมแรงดันก๊าซจากถังก็ต้องใช้สปริงร่วมกันกับแรงดันน้ำ ในการควบคุมแรงดันให้อยู่ในระดับที่ต้องการ


อย่างในรูปนี้ก็จะชี้ได้ว่า น้ำสามารถเข้าไปอยู่ใน Main Spring และชิดกับ Primary Diaphragm ได้ ซึ่งจะร่วมออกแรงกับสปริงในการกดไดอะแฟรมอีกทีหนึ่ง


ในกรณีที่น้ำเย็นจัด ส่วนที่สัมผัสกับน้ำอาจจะทำให้ส่วนที่รับรู้ถึงแรงดัน (สปริง,ไดอะแฟรม, หรือลูกสูบ) นั้นมีน้ำแข็งเกาะ และทำให้การเคลื่อนไหวหยุดไป อาจจะจ่ายอากาศค้างไว้อยู่ หรือปิดสนิทไม่จ่ายอากาศเลยก็ได้ การมี Environmental Seal เลยทำให้น้ำอยู่ด้านนอกสุดแล้วมีอากาศเป็นฉนวนอยู่ด้านใน Main Spring จึงทำให้สามารถส่งผ่านแรงดันน้ำมายังไดอะแฟรมได้ตามปกติ ทำให้ป้องกันอุณหภูมิได้ดี และลดการกัดกร่อนวัสดุได้


ซึ่งการทำการส่งผ่านเชิงกลของ Environmental Seal ในรูปแบบนี้ นิยมกันในหลายยี่ห้อจากหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง diaphragm first stage ซึ่งจะเห็นได้ว่า พื้นที่รับแรงน้ำมีพื้นที่หน้าตัดมากกว่าส่วนที่กดไดอะแฟรม


ถ้า ความดัน คือ แรงที่กระทำต่อพื้นผิว หรือ Pressure = Force / Area

ถ้า แรงกระทำต่อพื้นผิวเท่าเดิม แต่พื้นที่รับแรงกระทำลดลง ความดันก็จะเยอะขึ้น


ทำให้น้ำหนักที่กดลงที่ไดอะแฟรม มีน้ำหนักกดเยอะกว่าส่วนที่ได้รับแรงดันน้ำ ทำให้เมื่อลงไปในน้ำ แรงกดไดอะแฟรมจะเพิ่มขึ้นมากกว่า Unsealed Regulator ทำให้อากาศจ่ายเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย จ่ายอากาศในที่ลึกดีขึ้นกว่าเดิมอีกหน่อย บางยี่ห้อก็เอาการส่งแรงเชิงกลนี้ไปทำ marketing ว่า Overbalanced Diaphragm นั่นเอง เพราะยิ่งลึก ตัว First Stage ก็จะเพิ่มแรงกดได้มากขึ้นเล็กน้อย และอากาศที่มีความดันสูง จะมีความหนาแน่นมาก ทำให้การไหลของอากาศลดลง การเพิ่มแรงดันอากาศเข้าไปอีกหน่อยจะทำให้หายใจได้สบายขึ้นมาอีกนิด


แต่ถ้าไม่ลึกพอ (เกิน 40 เมตร) ก็แทบจะไม่รู้สึกเลย เมื่อวัดกันตามหลักวิทยาศาสตร์

By Pbsouthwood - Own work, CC BY 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=8884682


Second Stage Regulator: Polymer, Metal, or .... ?

เลือก first stage ที่ใช่แล้ว ก็ยังสามารถเลือก Second Stage ได้อีกด้วย วัสดุที่ผลิตก็มักจะมีโพลีเมอร์ (พลาสติก) กับ โลหะ (ทองเหลือง) ซึ่งก็มีคุณสมบัติแตกต่างกัน


Second Stage ที่ทำมาจากพลาสติกจะมีความเหนียว เบา ทนต่อแรงกระแทกระดับหนึ่ง เพราะเราเคยเจอเร็กกูเลเตอร์ที่ถูกกระแทกมาแล้วแตกก็มี ถ้าใครแนะนำเร็กกูเลเตอร์พลาสติกให้ ควรพูดถึงว่ามันเหนียว แต่มันไม่ได้เป็นอมตะนะ ต้องระวังอยู่ดี ถ้าอยากให้เร็กกูเลเตอร์หนังเหนียวกว่านี้อาจจะต้องไปเล่นโลหะ หรือ คาร์บอนไฟเบอร์ แทน

Second Stage ที่ทำมาจากโลหะ หรือคาร์บอนไฟเบอร์ มักจะมีราคาที่สูงกว่าพลาสติกทั่วไป มีข้อดีคือความแข็งแรงคงทนต่อการกระแทก และโลหะเมื่อมีแรงดันอากาศไหลผ่าน โลหะที่เกิดความเย็นจะทำให้เกิดความชื้นใน Housing และความชื้นนี้จะทำให้การหายใจใต้น้ำสบายกว่าเดิม เพราะอากาศที่ได้รับมีความชื้นเพิ่มขึ้น เมื่อหายใจคอจะแห้งช้าลง แต่ก็แลกมาด้วยน้ำหนัก และการบำรุงรักษาที่ต้องหมั่นดูแล เพราะโลหะย่อมเกิดคราบสนิมได้ และการหายใจเอาคราบสนิมเขียวๆเข้าปอด อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก


Unbalanced vs Pneumatically Balanced Second Stage, and Breathing Resistance Control

Second Stage มีกลไกแบบ Demand Valve แบบง่ายๆ เพราะแค่เอาสปริงกดกระเดื่องไว้เท่านั้นเอง ซึ่งพบได้ใน second stage รุ่นเริ่มต้น หรือรุ่นกลางๆ ของหลายๆยี่ห้อ เพราะชิ้นส่วนเคลื่อนไหวน้อยมาก เน้นทนทานนั่นเอง การหายใจจะหนัก จะเบา ก็อยู่ที่ฝีมือของช่างที่ตั้งระยะสปริงล้วนๆ เมื่อหายใจเข้า แรงดูดจะไปกระเดื่องยกสปริง อากาศไหลออกมา เมื่อหยุดหายใจ แรงสปริงจะดันลูกยางกลับไปดันกับวาล์วอีกครั้ง ไปเรื่อยๆ


ส่วน Regulator ที่ Pneumatically Balanced นั้นจะถูกออกแบบมาให้การยกของสปริง เบาขึ้นอีกเพราะมีแรงดันลมเข้ามาช่วยให้การเปิดปิดวาล์วทำได้ง่ายขึ้น แต่ก็จะมีชิ้นส่วนเพิ่มขึ้นมากมายเหมือนกัน Second Stage ที่มีลูกบิดอยู่ข้างปาก จะช่วยให้นักดำน้ำควบคุมความหนัก-เบาในการหายระหว่างอยู่ใต้น้ำได้ด้วยตัวเอง หรือสามารถช่วยแก้ไข second stage ที่มีฟองอากาศรั่วอยู่เบาๆก็ได้


SPG and Transmitter

เทคโนโลยีปัจจุบันมีความสะดวกสบาย สามารถติดตั้ง Transmitter เข้ากับ First stage เพื่อคอยตรวจสอบแรงดันอากาศคงเหลือในถังได้อย่างสบายมากขึ้น แต่ข้อควรระวังคือทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้วนพังได้


Transmitter ยี่ห้อเทพแค่ไหน ก็มีสิทธิ์ที่จะเสียหายกลับบ้านเก่าได้หมด จึงจำเป็นต้องมี SPG สำรองเอาไว้เสมออยู่ดี อย่าลด SPG ออกจะดีที่สุด


และแม้ SPG บอกไม่พังๆ แต่เท่าที่เห็นมาก็ต้องเปลี่ยนกันไปหลายอันแล้ว แต่มันก็เป็นสิ่งที่พึ่งพาได้มากกว่าไฟฟ้าอยู่ดี

การจัดเซ็ตที่ดี

การจัดเซ็ตที่ชาญฉลาด ควรจัดให้ยี่ห้อเดียวกันอยู่ด้วยกัน จะทำให้ง่ายต่อการดูแล และไม่ลดมูลค่าของอุปกรณ์ชุดนั้นเมื่อเราต้องการเปลี่ยนมัน


อนาคตต้องดูแล

เร็กกูเลเตอร์นั้น ขอแนะนำว่าต้องซื้อยี่ห้อที่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศเท่านั้น จะซื้อมาจากที่ไหนในโลกก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่า อะไหล่ทุกชิ้น จะต้องหาซื้อในประเทศได้ เพราะอุปกรณ์ย่อมมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เมื่อใช้งานไปพักหนึ่งต้องเปลี่ยนวัสดุยางต่างๆ จึงต้องใช้ service kit ที่มาจากผู้ผลิตเท่านั้น และระยะการดูแลก็แตกต่างกันไป 1-3 ปีแล้วแต่ยี่ห้อ รวมไปถึงอะไหล่จำเป็นที่ต้องจัดหาเมื่อเกิดความเสียหายจากการใช้งาน


บทส่งท้าย หวังว่าทุกคนจะมีความรู้เพิ่มในการเลือกของมากขึ้น จะได้ไม่โดนเชียร์ของแพงโดยไม่จำเป็น เร็กกูเลเตอร์แพงๆ ไม่ได้แปลว่าเป็นเร็กกูเลเตอร์ดีๆเสมอไป หลายๆครั้งเราเห็นเร็กดีนอกกระแสเยอะมาก ไว้จะมีบทความที่เชียร์ของต่อไปนะครับ

ดู 92 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page